PHRANAKHON STORY

โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร
Supported by Thai Media Fund

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ 23 แห่ง

วัดสังเวชวิศยาราม

"วัดสังเวชวิศยาราม” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า "วัดสังเวชฯ” เป็นวัดเก่าสำคัญแห่งหนึ่งของย่านบางลำพูที่เกี่ยวข้อง
กับความเป็นมาของชุมชนในย่านนี้และประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสร้างกรุงเทพฯ
เดิมเรียกว่า "วัดสามจีน” หรือ "วัดบางลำพู” ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู หรือคูพระนครเดิม ปัจจุบันได้รับการยกฐานะ
เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี

สแกน AR

สัมผัสกับการท่องเที่ยวชมวัดเสมือนจริง
ได้ที่ Phranakhon story Application

วัดสังเวชวิศยาราม

คลิกหัวข้อที่สนใจได้ที่ด้านล่างนี้

วัดสังเวชวิศยาราม เดิมเรียกว่า "วัดสามจีน” เนื่องจากมีตำนานเล่าว่า ชาวจีน 3 คน ร่วมกัน
สร้างวัดโดยมีปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ที่เล่าต่อกันมาว่า "ตำบลวัดสามจีน มีหินสามก้อน ที่นอนสามอัน
มีต้นโศกเอนที่เจ้าเณรนั่งฉัน”

การสร้างเจดีย์ในพุทธสถานของไทยในระยะแรกนั้น
มีที่มาและคติความเชื่อให้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นศูนย์กลางของวัดในพุทธศาสนา
คติการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์มีวิวัฒนาการ
มาจากปราสาท

เจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชวิศยาราม มีลักษณะทั่วไปเดียวกับเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์
ที่พบได้จากอื่น ๆ ในเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)

ประวัติการก่อตั้ง

วัดสังเวชวิศยาราม

วัดสังเวชวิศยาราม เดิมเรียกว่า "วัดสามจีน” เนื่องจากมีตำนานเล่าว่า
ชาวจีน 3 คน ร่วมกันสร้างวัดโดยมีปริศนาลายแทงขุมทรัพย์ที่เล่าต่อกันมาว่า "ตำบลวัดสามจีน มีหินสามก้อน ที่นอนสามอัน มีต้นโศกเอนที่เจ้าเณรนั่งฉัน”
ต่อมาได้เรียกชื่อตามที่ตั้งว่า "วัดบางลำพู” ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดบางลำพูพระราชทานนักชี
ยายพระองค์เจ้าขัตติยา ต่อมารัชกาลที่ 3 มีการบูรณะวัดแห่งนี้ครั้งใหญ่
โดยได้ย้ายพระอุโบสถ ไปสร้างในสถานที่ตั้งปัจจุบัน สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้
นายสุดปลัดกรมช่างหล่อ บูรณะพระประธานในพระอุโบสถแล้วพระราชทานนาม
วัดว่า "วัดสังเวชวิศยาราม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2412 วัดสังเวช
วิศยารามประสบอัคคีภัย อาคารเสนาสนะถูกเพลิงไหม้เสียหาย เหลือเพียง
พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง หอไตร คณะล่าง ศาลาหน้าพระวิหารที่เป็นโรงเรียนปัจจุบัน ตัวพระวิหารถูกเพลิงไหม้เพียงหลัง พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงบัญชาการดับเพลิง ที่สะพานข้ามคลองบางลำพู (สะพานฮงอุทิศ) และทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระเมรุที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสร้างเป็นกุฏิเสนาสนะ
ในวัดสังเวชวิศยารามมแทนหลังเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ และโปรดให้พระเจ้า
บรมวงศ์เธอ กรมขุนภูวนัยนฤเบนทราภิบาล ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์
อาคารเสนาสนะในพระอารามให้บริบูรณ์ดังเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการปฏิสังขรณ์พระอารามใหม่ทั้งหมด มีปรับปรุงและก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในวัดเพิ่มเติม พร้อมกับมีการสร้างสะพานข้างคลองบางลำพู จากประตู
ช่องกุดเดิมเชื่อมต่อถนนทางเข้าวัดสังเวชฯ รวมทั้งมีการจัดเรียบระเบียบผังภายในวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงกล่าวได้ว่า อาคาร ศาสนสถาน
และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนถนนหนทาง ภายในวัดที่ปรากฎให้เห็นในปัจจุบัน
ส่วนใหญ่เป็นงานช่างฝีมือสมัยรัชกาลที่ 6 ลงมา เช่น พระอุโบสถ ที่มีการสร้างใหม่ตามแบบไทยประเพณีสมัยรัชกาลที่ 6 รวมทั้งกลุ่มเจดีย์ทรงปรางค์ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง พร้อมกับศาสนสถานหลายแห่งภายในวัด

วัดสังเวชวิศยาราม

เจดีย์ทรงปรางค์ในสยามประเทศ

การสร้างเจดีย์ในพุทธสถานของไทยในระยะแรกนั้น มีที่มาและคติความเชื่อให้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นศูนย์กลางของวัดในพุทธศาสนา คติการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์มีวิวัฒนาการมาจากปราสาท ซึ่งเป็นที่สถิตของเทพเจ้า เป็นการจำลอง
เขาพระสุเมรุมาสร้างบนโลกมนุษย์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย รูปแบบนี้ได้รับการถ่ายทอดมายังเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการรับศาสนาและอารยธรรมอินเดียของดินแดนในแถบนี้ ปรากฏหลักฐานชัดเจนในรูปแบบ
ของปราสาทในศิลปะแบบเขมรหรือศิลปะลพบุรี การสร้างปราสาทเขมรจึงมีที่มาจากคติความเชื่อเกี่ยวกับที่ประทับของเทพเจ้า โดยมีรูปเคารพแทนองค์เทพเจ้าตั้งอยู่ภายในปราสาท ภายหลังจากอำนาจทางการเมืองและอิทธิพลทางศิลปกรรมจากเขมร
หรือกัมพูชาเสื่อมลงไปจากบริเวณดินแดนไทย ในช่วงก่อนสมัยอยุธยา ปราสาทหรือศาสนสถานแบบเขมรส่วนหนึ่งได้รับ
การดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนา แบบเถรวาท เช่น พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี (ภาพ 3) และบางครั้ง
ตัวปราสาทได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแทนการตั้งรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์หรือพุทธศาสนามหายาน
พัฒนาการของปราสาทเขมรในประเทศไทยที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนตัวปราสาทขอม อันเนื่องในศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งทางด้านรูปแบบ และคติการใช้งานมาเป็น "พระปรางค์" ซึ่งมักใช้ในความหมายของเจดีย์ที่บรรจุ
พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า โดยการเพิ่มชั้นฐานให้สูงขึ้น และชั้นหลังคาเป็นทรงสูงมากขึ้น
จนทำให้มีลักษณะคล้ายฝักข้าวโพด บางทีเรียกว่า ปรางค์ทรงฝักข้าวโพด

เจดีย์ทรงปรางค์ได้รับความนิยมอย่างมากในงานสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น และกลับมานิยมอีกครั้งในสมัยอยุธยา
ตอนปลาย สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1 – 3) ส่วนคติการสร้างปรางค์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกเหนือจากใช้แทนความหมายของเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว อาจมีคติในเรื่องเขาพระสุเมรุหรือจักรวาล
เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ภายหลังคติความเชื่อดังกล่าวค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย พร้อมกับพัฒนารูปทรงของสถาปัตยกรรมประเภทปราสาทให้มีวิวัฒนาการรูปแบบมีรูปทรงสูงเพรียว ในลักษณะที่เรียกว่า "ปรางค์” และถ้านับรวมถึงวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างตัวปรางค์ ก็จะหมายถึงเจดีย์รูปแบบหนึ่งของไทย ที่เรียกว่า "เจดีย์ทรงปรางค์”

วัดสังเวชวิศยาราม

เจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชวิศยาราม

เจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชวิศยาราม มีลักษณะทั่วไปเดียวกับเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่พบได้จากอื่น ๆ
ในเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) พระปรางค์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น
อันเป็นเจดีย์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะเจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชฯ ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน มีจำนวน 9 องค์
เป็นกลุ่มเจดีย์ ที่ตั้งอยู่พื้นที่ระหว่างบริเวณด้านหลังพระอุโบสถกับพระวิหาร ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง

โดยยังคงรักษาและสืบทอดลักษณะรูปแบบเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไว้ค่อนข้างดี การวางตำแหน่งองค์เจดีย์
ในลักษณะผังสี่เหลี่ยมสมมาตรอย่างเป็นระเบียบประกอบด้วย เจดีย์ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง เจดีย์ปรางค์บริวาร จำนวน 8 องค์ ตั้งอยู่บนแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเจดีย์ปรางค์ประธาน โดยมีเจดีย์ประจำมุม 4 องค์ เจดีย์ประจำด้าน 4 องค์
จะขออธิบายลักษณะ ดังนี้

เจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ตรงกลางเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเจดีย์ มีขนาดใหญ่ที่สุดความสูงประมาณ 4 เมตร มีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนฐาน ตั้งอยู่บนฐานเขียงซ้อนกัน 2 ฐาน อยู่ในลักษณะผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก ซ้อนชั้นขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ และฐานปัทม์ อีก 2 ชั้น มีลวดลายปูนปั้นประดับเต็มหน้ากระดานที่ฐานทั้งสอง

ส่วนกลาง หรือเรือนธาตุ ตั้งอยู่บนชุดฐานสิงห์และฐานปัทม์ชั้นที่ 2 อยู่ในลักษณะผังย่อมุมไม้สิบหกทุกมุมเท่ากัน ที่เรือนธาตุ
มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน หน้าบันทำเป็นชั้นบรรพ์แถลงซ้อนกันสองชั้น ภายในซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน 4 ปาง ได้แก่
ด้านทิศเหนือมีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ทิศใต้มีพระพุทธรูปปางถวายเนตร ทิศตะวันออกเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร และด้านทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปปางทรงรำพึง ส่วนเรือนธาตุประดับด้วยลวดลายปูนปั้น

ส่วนบน อยู่เหนือตัวเรือนธาตุขึ้นไป เป็นชั้นรัดประคด มีรูปครุฑแบก 1 ชั้น รองรับส่วนบนประกอบด้วย เรือนชั้นซ้อน 7 ชั้น มีสัดส่วนสูงเพรียว ย่อทุกมุมมีขนาดเท่ากัน มีการประดับกลีบขนุนปรางค์ และบรรพ์แถลง แนบบชิดติดกับผนังในแต่ละชั้นรวมเป็นส่วนเดียวกับช่องวิมานและใบขนุนในลักษณะใบขนุนที่แปะติดกับผนัง ส่วนยอดปรางค์ปักด้วยนภศูล

เจดีย์บริวาร

เจดีย์บริวาร จำนวน 8 องค์ น่าจะหมายถึงเจดีย์ประจำทิศทั้งแปด ตั้งอยู่บนแนวกำแพงแก้ว รายล้อมเจดีย์ประธาน แต่ละองค์มีความสูงเท่ากัน ประมาณ 2.5 เมตร มีลักษณะองค์ประกอบและงานประดับตกแต่งเหมือนกันทั้ง 8 องค์ เป็นเจดีย์ประจำมุม 4 องค์ (ภาพ 6) เจดีย์ประจำด้าน 4 องค์ (ภาพ 7) โดยมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน เช่นเดียวกับปรางค์ประธานมีสัดส่วนขนาดเล็กกว่าประกอบด้วย

ส่วนฐาน ตั้งอยู่บนฐานเขียงสูงในผังย่อมุมไม้สิบหก 1 ฐาน ซ้อนชั้นขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ชั้นที่ 1 คั้นด้วยฐานสิงห์ และฐานปัทม์ชั้นที่ 2 มีลวดลายปูนปั้นประดับ ฐานทุกชั้นอยู่ในลักษณะผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบหก

ส่วนกลาง หรือเรือนธาตุ ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟักชั้นที่ 2 อยู่ในผังย่อมุมไม้สิบหกทุกมุมเท่ากัน ทั้งสี่มุม ที่เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน หน้าบันทำเป็นชั้นบรรพ์แถลง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น

ส่วนบน อยู่เหนือตัวเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นรัดประคด (ชั้นเชิงบาตร) คอดเว้า ถัดขึ้นไปทำ เรือนชั้นซ้อน 5 ชั้น มีสัดส่วนสูงเพรียว ย่อทุกมุมมีขนาดเท่ากัน มีการประดับกลีบขนุนปรางค์ และบรรพ์แถลง แนบบชิดติดกับผนังในแต่ละชั้นรวมเป็นส่วนเดียวกับช่องวิมานและใบขนุนในลักษณะใบขนุนที่แปะติดกับผนัง

จากลักษณะรูปแบบกลุ่มเจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชฯ ดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ที่มีลักษณะเดียวกับเจดีย์ทรงปรางค์วัดราชโอรสสาราม พระปรางค์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ซึ่งมีประวัติการสร้างสมัยรัชกาลที่ 3 ประกอบวัดสังเวชวิศยารามมีประวัติ การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มเจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชฯ เป็นเจดีย์ ทรงปรางค์สมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเช่นกัน กลุ่มเจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชฯ ได้สะท้อนให้เห็นคติความนิยมลักษณะสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้อย่างน่าสนใจ และถือได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงปรางค์แห่งเดียวในย่านบางลำพู

อ้างอิงจาก
 พิสิฐ เจริญสุข. พระอารามหลวง. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.
กรมสรรพากร. ประวัติวัดสังเวชวิศยาราม โดยพระยาทิฟโกษา. พิมพ์แจกในงานทอดพระกฐินพระราชทาน ณ วัดสังเวชวิศนาราม วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2510.
สมคิด จิระทัศนกุล. วัด: พุทธศาสนสถาปัตยกรรมไทย. [ม.ป.ท.] : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.
สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมองศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่างสมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551
สมปอง ดวงไสว. บางลำพูวิทยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมปอง, 2552