PHRANAKHON STORY
โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร
Supported by Thai Media Fund
13 แห่งศาลเจ้าสำคัญในเขตพระนคร
ศาลเจ้าพ่อเสือ
ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า หรือที่ชาวจีนในไทยเราเรียกกันว่า ศาลตั่วเหล่าเอี้ย เป็นศาลเจ้าจีนสายลัทธิเต๋าที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากๆ อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ความเชื่อที่มีสืบต่อกันมาว่า หากใครที่กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ อยากจะขอพรในเรื่องการงานให้ประสบความสำเร็จ เสริมอำนาจบารมี ให้ร่ำรวยเงินทองล่ะก็ ต้องมาไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าพ่อเสือแห่งนี้ อีกทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องของ การแก้ชง โดยใครที่เกิดปีชง ก็จะต้องมาทำ
พิธีปัดตัวสะเดาะเคราะห์ แก้ชง เสริมสิริมงคลกันอีกด้วย
ลักษณะอาคารของศาลเจ้า สร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน และมีเทพเจ้าประจำศาลเจ้า
คือ เหี่ยงเที่ยงเสี่ยงตี่ หรือ เจ้าพ่อเสือ เป็นเทพที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาอย่างมาก อีกทั้งภายใน
ศาลเจ้ายังประดิษฐานเทพอีกหลากองค์ โดยเฉพาะ เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ
ของทั้งคนไทยและจีนเช่นกัน
ในการสร้างศาลพ่อเจ้าเสือนั้น ได้มีการนำเอา กระดูกเสือ บรรจุในแท่น ปั้นรูปประดิษฐานบนแท่น และอัญเชิญดวงวิญญาณเสือ ขอให้ปกปักรักษาประชาชนให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ศาลเจ้าพ่อเสือ จึงเป็นศาสนสถานที่สะท้อน
ถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของคนไทยและจีนในพื้นที่บริเวณนี้ที่มีมาช้านาน
ศาลเจ้าพ่อเสือในตำนานจีนนั้น เป็นเทพเจ้าเสือแห่งการปกป้อง โดยเรามักพบเห็นในวัดของลัทธิเต๋าของจีน
บูชาเพื่อไล่วิญญาณที่เป็นศัตรูต่างๆ ในไทยเราก็มีตำนานศาลเจ้าพ่อเสือเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นตำนานจีน
ที่ผสมผสานกับตำนานของไทยโดยมีเรื่องอยู่ว่า
เดิมทีบริเวณนี้ในสมัยก่อนยังเป็นป่าซึ่งมีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่มาก และมีครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ
คือ นายสอน และ ยายผอง 2 แม่ลูก ด้วยความยากจน นายสอนจึงต้องเข้าป่าเพื่อไปเก็บของป่าทุกๆวัน
วันหนึ่งนายสอนได้ไปเจอซากกวางใหม่ๆ จึงมีความคิดอยากนำเนื้อกวางไปฝากแม่ จึงเข้าไปตัดชิ้นเนื้อกวางมา และขณะนั้นเอง เสือที่ซุ่มอยู่ ก็กระโจนมาขย้ำเข้าที่แขนจนขาด นายสอนตะเกียกตะกายทั้งที่บาดเจ็บสาหัสกลับไปที่บ้าน และเล่าเรื่องให้ยายผ่องรู้ทั้งหมด ก่อนจะสิ้นใจไป ด้วยความเสียใจที่สูญเสียลูก ยายผ่องจึงไปร้องกับนายอำเภอให้จับเสือมาลงโทษให้ได้ นายอำเภอและปลัด จึงออกตามหาเสือ แต่ไม่พบ ตอนต้องมาพึ่งบารมี ไปอธิษฐานต่อ หลวงพ่อบุญฤทธิ์ และ หลวงพ่อพระร่วง ที่ วัดมหรรณพาราม จากนั้นก็ได้เจอเสือที่หมอบอยู่พร้อมให้จับโดยดี เมื่อจับเสือมาได้ นายอำเภอก็พิพากษาตัดสินประหารชีวิตเสือ เสือก้มหัวยอมรับ ลงนอนหมอบราบกับพื้นหลับตาเฉย แต่มีน้ำตาไหลซึม เมื่อยายผ่องเห็น อาการที่เคยโกรธเสือมาก่อนก็มลายหายไป เหลือแต่ความสงสาร จึงร้องขอชีวิตเสือต่อนายอำเภอ หลังจากนั้น ก็ได้นำเสือก็มาเลี้ยงจนเชื่อง เมื่อยายผ่องถึงแก่กรรม เสือก็มีความโศกเศร้าเสียใจอย่างที่สุด และเกิดอาการตรอมใจ เมื่อเผาร่างของยายผ่อง
เสือได้กระโจนเข้าไปในกองไฟด้วยสำนึกใจคุณของยายผ่อง สร้างความสลดใจแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างศาลข้างวัดมหรรณพาราม โดยปั้นรูปเสือไว้พร้อมนำเถ้ากระดูกของมันมาไว้ใต้แท่นและทำพิธีอัญเชิญ
ดวงวิญญาณเสือมาสถิตย์ไว้