PHRANAKHON STORY

โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร
Supported by Thai Media Fund

๑๖ แห่ง พระราชวังสำคัญในเขตพระนคร

วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ

วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ เดิมเป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไพฑูรย์ กรมหมื่นสนิทนเรนทร์ ต้นราชสกุลไพฑูรย์
เมื่อ กรมหมื่นสนิทนเรนทร์สิ้นพระชนม์ จึงเป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมแสง กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา
พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ต้นราชสกุล ชุมแสง เมื่อกรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชาสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานวังนี้เป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ต่อมาเมื่อเมื่อกรมหมื่นภูธเรศ
ธำรงศักดิ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว พระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า แพร่งภูธร ตามพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

สแกน AR

สัมผัสกับการท่องเที่ยวชมวัดเสมือนจริง
ได้ที่ Phranakhon story Application

ประวัติพระราชวัง

วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ

ถนนแพร่งภูธร ชื่อถนนมาจากพระนาม “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์“ ซึ่งมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายทวีถวัลยลาภ ต้นราชสกุลทวีวงศ์ เป็นพระโอรส
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ ทรงรับราชการตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล ประทับ ณ วัง บริเวณริมถนนหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้าริมถนนบ้านตะนาว ครั้นกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2440 หม่อมเจ้าในกรมได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวและตัดถนนผ่านบริเวณวังเรียก ชื่อตามพระนามเจ้าของวังว่า “ถนนแพร่งภูธร”

ตึกแถวถนนแพร่งภูธรนั้นสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แพร่งภูธรจรดถนน 3 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่ ถนนอัษฎางค์ ถนนบำรุงเมือง และถนนตะนาว เดิมเป็นที่ตั้งของ
วังริมสะพานข้างโรงสี เรียกกันว่าวังเหนือ อยู่ทางฝั่งคลองคูเยื้องฟากตะวันออก สร้างพระราชทานกรมหมื่นสนิทนเรนทร์ ครั้นกรมหมื่นพระองค์นี้สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ 5
ทรงพระราชทานเป็นวังกรมหมื่นภูธเรศ ธำรงศักดิ์ เมื่อกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ลง พระทายาทถวายขายที่วังและสิ่งปลูกสร้างแด่รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้
กรมพระคลังข้างที่รับซื้อไว้ จากนั้นจึงรื้อถอนอาคารต่างๆ ในวังลงจนหมด จัดซื้อที่ดินเพิ่มด้านถนนอัษฎางค์และด้านตะนาว แลวตัดถนนให้มีทางเข้าออกสามด้าน ตรงกลางเว้น
เป็นที่ว่าง ส่วนที่เหลือสร้างเป็นตึกแถว ด้านเหนือจรดแนวตึกถนนแพร่งนรา ด้านใต้จรดตึกแถวถนนบำรุงเมือง ด้านตะวันออกจรดตึกแถวถนนตะนาว
พระราชทานชื่อว่าตำบลแพร่งภูธร

สถาปัตยกรรม

วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ

อาคารมีลักษณะเป็นตึกแถว สูง 2 ชั้น ด้านกว้างค่อนข้างแคบแต่ลึกเข้าไป
ข้างใน เน้นพื้นที่แนวยาวมากกว่าแนวกว้าง มีโครงสร้างแบบกำแพงรับน้ำหนักตัวอาคาร กำแพงหนา ก่ออิฐถือปูน ฉาบปูนทั้งผนังด้านในและด้านนอก ทำหน้าที่เป็นกำแพงกันไฟไปในตัว โดยยกกั้นเป็นช่วงๆ ระหว่างห้องแถว ความสูงถึงหลังคา ความยาวช่วงละ 2-3 ห้อง โครงสร้างเสาหลักของอาคารเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่เพื่อรองรับอาคารหลัก รวมทั้งโครงสร้างหลังคา แต่เดิมมุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว ชั้นล่างเป็นประตูไม้บานเฟี้ยมลูกฟัก เดินปูนปั้นเหนือขอบประตูเป็นเส้นวงโค้งและช่องระบายอากาศเหนือประตู มีแนวกันสาดเหนือประตูเป็นสังกะสีคลุมทางเท้ายาวเชื่อมต่อห้องแถวทุกห้องไปตลอดแนวอาคาร ส่วนชั้นบนเป็นหน้าต่างบานเปิดไม้แบบลูกฟักกระดานดุน มีช่องแสงเป็นไม้ฉลุช่องเล็ก ๆ ที่กันสาดมีไม้ฉลุลายที่ขอบโดยรอบ ผนังบริเวณเหนือช่องหน้าต่างมีการเจาะช่องระบายลมรูปวงกลมเป็นระยะ ๆ ระหว่างห้องแถวแต่ละห้องมีเสาปูนปั้นเซาะร่องแนวนอนไม่มีหัวเสาคั่นระหว่างห้อง อาคารตึกแถวแพร่งภูธรนี้มีลักษณะการวางผังอาคารล้อมรอบตลาดและลานสุขุมาลอนามัย

  • อ้างอิงจาก
    ศิริชัย นฤมิตรเรขการ. สะพานเก่ากรุงเทพฯ (Old bridges of Bangkok). กรุงเทพฯ : สยามสมาคมฯ, 2520.
    ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ย่านการค้า “ตะวันตก” แห่งแรกของกรุงเทพฯ : สามแพร่ง แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
    ฐานิศวร์ เจริญพงศ์. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริเวณแพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
    วรรณพา แก้วมณฑา. (2556). ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านงานสถาปัตยกรรมย่านชุมชนสามแพร่ง. การศึกษาเฉพาะบุคคลในประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

นำทางเที่ยว

วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือ