PHRANAKHON STORY
โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร
Supported by Thai Media Fund
๑๖ แห่ง พระราชวังสำคัญในเขตพระนคร
พระราชวังสราญรมย์
พระราชวังสราญรมย์ เป็นวังที่ตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว เคยใช้เป็นที่ทำการ
ของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นบ้านพักรับรองพระราชอาคันตุกะ นอกจากนี้ ภายในวังสราญรมย์
ประกอบด้วยห้องซึ่งมีความงดงามอลังการจำนวนมาก โดยเฉพาะชั้นบนซึ่งเคยใช้เป็นห้องพักของพระราชอาคันตุกะ
หรือที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์มาก่อน และบริเวณคอร์ทภายในซึ่งเป็นลานโล่งกว้าง มีประติมากรรมน้ำพุประดับ
ประวัติพระราชวัง
พระราชวังสราญรมย์
พระราชวังสราญรมย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ออกแบบโดยเฮนรี อาลาบาศเตอร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409 โดยมีพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อใช้เป็นที่ประทับ พระราชทานนามว่า สราญรมย์ แต่เสด็จสวรรคตก่อนที่จะสร้างเสร็จ
ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน
วังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับชั่วคราว ของเจ้านายเมื่อแรกออกจากวังหลวง
ก่อนที่วังประทับถาวรจะก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิเช่น เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
ทรงประทับเมื่อ พ.ศ. 2419 - 2424 ระหว่างก่อสร้างวังบูรพาภิรมย์ ต่อมา
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ
เช่น เจ้าชายแห่งญี่ปุ่น ซาเรวิชหรือมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย
(ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย)
เจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ พระราชอาคันตุกะพระองค์แรกที่เข้ามาประทับ
คือ เจ้าชายออสการ์ เมื่อ พ.ศ. 2427
เมื่อ พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงขอพระราชทานวังสราญรมย์
ให้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาจึงย้ายไปที่ตึกราชวัลลภ
ในพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. 2430 วังสราญรมย์ จึงใช้เป็นบ้านพักรับรอง
พระราชอาคันตุกะ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยพระองค์โปรดให้เรียก "วังสราญรมย์" เป็น "พระราชวังสราญรมย์"
ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2459
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทาน
วังสราญรมย์ให้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศ อีกครั้งหนึ่ง
เนื่องจากตึกราชวัลลภในพระบรมมหาราชวังชำรุดทรุดโทรมลงมาก
เมื่ออาคารดังกล่าวกลายเป็นที่ทำการสำนักงานกระทรวงการต่างประเทศแล้ว
ก็กลับเรียกชื่อว่า "วังสราญรมย์" อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากมิได้มีเจ้านายประทับ
เป็นการประจำ และได้ใช้วังสราญรมย์เป็นที่ทำการถาวรของกระทรวง
การต่างประเทศสืบมาจนถึงประมาณช่วงปี 2535 จึงมีการย้ายสำนักงานส่วนใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศออกไปที่อาคารถนนศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันนี้
หลังปี พ.ศ. 2535 มีการปิดวังสราญรมย์เพื่อปรับปรุงและบูรณะซ่อมแซม
โดยในช่วงแรกมีแผนที่จะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทูตไทย
และสถาบันฝึกอบรมข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ในชั้นนี้การบูรณะ
ยังไม่แล้วเสร็จ อนึ่ง ในบริเวณกระทรวงการต่างประเทศวังสราญรมย์เดิม
พื้นที่ฝั่งที่ติดกับพระราชอุทยานสราญรมย์ (ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะภายใต้
การดูแลของกรุงเทพมหานคร) ได้มีการก่อสร้างทำเนียบองคมนตรีและ
อาคารสำนักราชเลขาธิการ ซึ่งยังใช้เป็นที่ทำการของคณะองคมนตรีมาจนปัจจุบันนี้
ในยุคที่วังสราญรมย์ยังเป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ สถานที่แห่งนี้
เคยเป็นที่ที่ชาติสมาชิกก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (หรือปฏิญญาอาเซียน) ในวันที่
8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ก่อตั้งสมาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยผู้ลงนามฝ่ายไทย
คือ พ.อ. ถนัด คอมันตร์
สถาปัตยกรรม
พระราชวังสราญรมย์
พระราชวังสราญรมย์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ออกแบบโดย เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ลักษณะอาคารดั้งเดิมนั้น มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรบรรยายไว้โดยเจ้าชายออสการ์
พระราชอาคันตุกะพระองค์แรกที่เข้ามาประทับใน พ.ศ. 2427
“วังสราญรมยา”
“วังสราญรมยา” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเรานี้ เป็นตึกแบบตะวันออก มีลานกว้างอยู่หลายแห่ง พื้นเป็นหินอ่อน มีเสาเรียงเป็นแถว บริวารของเราอยู่ตามห้องซึ่งจะมองลงมาข้างล่าง
เห็นเป็นชาลาโล่ง รอบชาลาเป็นระเบียงมีหลังคาคลุม แบ่งออกเป็นสี่ตอน เพราะมีระเบียงอื่นตัดผ่าน เราจึงได้อยู่รวมกันในที่แห่งเดียวกันนี้ และอาจมาพบปะกันได้ตามระเบียงที่
ร่มเย็นสบาย ซึ่งเขาจัดวางเก้าอี้ไว้ให้ หรือไม่ก็ไปพบกันในห้องบิลเลียดบริเวณวังของเรา ตามที่เราเรียกกันนี้ มีอุทยานงามแปลกตา มีที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น กวาง ลิง
เสือดำตัวหนึ่ง กับสัตว์สี่เท้าอื่นๆ รวมทั้งนกด้วย”
นายคาร์โล อาแลกรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบ
วังแห่งนี้ เคยได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2441 โดยใช้เวลาประมาณ
1 ปี มีนายคาร์โล อาแลกรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง โดยกรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการ โดยด้านหน้าของวังซึ่งเป็นส่วนที่ทำขึ้นใหม่ในครั้งนั้น ประกอบด้วยมุข 3 ด้าน ที่หน้าจั่วกลางซึ่งเป็นทางเข้าออกหลัก
มีตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งประกอบไปด้วย พระมหามงกุฏ แวดล้อมด้วยเบญจปฎลเศวตฉัตร 1 คู่
อยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นตราไอยราพต (ช้าง 3 เศียร) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง
ของตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4 อันมีความหมายถึงพระราชอาณาจักร
ส่วนล่างสุดเป็นราชสีห์และคชสีห์ มุขอีกสองด้านซึ่งเป็นปีกอาคารด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นจั่วรูปสามเหลี่ยม มีตราพระเกี้ยวอยู่ตรงกลาง มุขทั้งสามนี้ชั้นบน ทำเป็นระเบียง มีเสารับหน้าบัน ภายในตัวอาคารมีสนามตรงกลาง
มีประติมากรรมประกอบน้ำพุซึ่งเป็นของเดิมแต่ครั้งเริ่มสร้าง
ทางเดินชั้นบนเป็นระเบียงยาวเดินได้ตลอด ชั้นล่างมีคูหาเป็นช่อง
มีประดับลายฉลุไม้ที่ชายคา
ห้องพักของพระราชอาคันตุกะ
ภายในวังสราญรมย์ประกอบด้วยห้องซึ่งมีความงดงามอลังการอยู่เป็น
จำนวนมาก โดยเฉพาะชั้นบนซึ่งเคยใช้เป็นห้องพักของพระราชอาคันตุกะ
หรือที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์มาก่อน บริเวณคอร์ทภายในซึ่งเป็น
ลานโล่งกว้าง มีประติมากรรมน้ำพุประดับห้องที่เปรียบเสมือน ท้องพระโรง
ของวังสราญรมย์ ใช้เป็นห้องสำหรับลงนามในสนธิสัญญาสำคัญต่างๆ
ที่หน้าห้องมี”ประตูบัวแก้ว” เป็นบานประตูไม้สัก 4 ชิ้น ส่วนบนเป็นรูปโค้ง
มีลายแกะสลักฉลุสีทองเป็นตราบัวแก้วใหญ่ ตราบัวแก้วน้อยและดอกบัวหลวง
ประตูบัวแก้ว
ประตูบัวแก้ว งดงามและสูงค่าด้วยการแกะสลักลวดลายฉลุทอง
ถือเป็นของสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ติดตั้งอยู่ระหว่างตึกเก่า
และตึกใหม่ ภาพที่เห็นเป็นด้านของตึกใหม่ เมื่อเปิดประตูผ่านเข้าไปจะเป็น
ห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นท้องพระโรงของวัง ห้องเทววงศ์ อยู่ถัดจากท้องพระโรง ขนานนามไว้เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบิดาแห่งการทูตไทย ภายในห้องมี
ภาพเขียนเก่าของอิตาลีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง
ซื้อกลับมาเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2
ห้องไตรทศ
ห้องไตรทศ ขนานนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย พระโอรสในกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ดำรงตำแหน่งสืบจากพระบิดาเมื่อ พ.ศ. 2466 เดิมเคยใช้เป็นห้องทำงานของปลัดทูลฉลอง
และต่อมาได้ใช้เป็นห้องรับรองและห้องประชุมของกระทรวงฯ บริเวณมุมรับแขกภายในห้องไตรทศ เดิมใช้เป็นห้องทำงานของปลัดทูลฉลองภายในห้องโถงใหญ่ซึ่งเปรียบเสมือนท้องพระโรงของวัง งามเด่นด้วยโทนสีเหลืองทอง และฝีมือแกะสลักลวดลายฉลุไม้ประดับตามเพดานและช่องลม
ความงดงามแห่งศิลปสถาปัตยกรรมที่เลิศล้ำของแผ่นดินชิ้นนี้ เป็นเสมือนจารึกแห่งอดีต
ที่จะคงอยู่และสืบทอดต่อเนื่องไปภายหน้า เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าหน้าสำคัญของสยามประเทศสู่ชาวไทยรุ่นลูกรุ่นหลานในวันนี้และวันข้างหน้า
สถานที่ลงนามก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวังสราญรมย์เมื่อครั้งยังเป็นที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศคือเป็นที่ลงนามก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนในยุคเริ่มต้น ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ โดยเป็นสถานที่ทำพิธีลงนามก่อตั้งอาเซียนตามปฏิญญากรุงเทพ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510
สิ่งที่น่าสนใจ
พระราชวังสราญรมย์
ศาลากระโจมแตร
ศาลากระโจมแตร ใช้เป็นที่บรรเลงดนตรี หรือแตรวงของทหาร ในเวลาที่มีงานบริเวณน้ำพระราชอุทยาน สมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฏราชกุมาร ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์
ศาลานี้สร้างขึ้นพร้อมเรือนกระจกและอาคารต่างๆ ในพระราชอุทยาน
ศาลาแปดเหลี่ยม
ศาลาแปดเหลี่ยม เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่นิยมกันมาก
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นเพื่อใช้งานร่วมกับศาลากระโจมแตร
อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ฯ
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีย์พระบรมราชเทวี เคยเสด็จประพาสสวนนี้
เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย หลังจากสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่ง
ล่มที่บางพูด ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เมื่อ พ. ศ.2423 รัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นที่ระลึกแห่งสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ เคยเสด็จประพาสสำราญพระราชหฤทัย เช่น บางปะอิน น้ำตกพริ้ว และที่พระราชอุทยานสราญรมย์นี้ด้วย อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ที่กลางอุทยานค่อนข้างมาทิศใต้ สร้างด้วยหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดเป็นรูปปรางค์ห้ายอด ตั้งอยู่บนฐาน 6 เหลี่ยมและจารึกคำไว้อาลัยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
น้ำพุพานโลหะ
น้ำพุพานโลหะ โบราณวัตถุอายุนับศตวรรษ เป็นองค์ประกอบตกแต่ง
พระราชอุทยานตั้งแต่ในอดีต
อาคารเรือนกระจก
อาคารเรือนกระจก ตึกโถงชั้นเดียวกรุกระจกมีดาดฟ้า ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายวิจิตร ในปี 2447 เป็นที่ตั้งของทวีปัญญาสโมสร และโรงละคร
ทวีปัญญา เป็นสโมสรแบบตะวันตกของเจ้านาย และข้าราชการชั้นสูง
มีการออกหนังสือทวีปัญญารายเดือน กีฬาในร่ม กลางแจ้ง ละครพูด
และห้องอ่านหนังสือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนต้นไม้กรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
สวนสราญรมย์
สวนสราญรมย์หรือพระราชอุทยานสราญรมย์ เป็นสวนสาธารณะ
อยู่ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออก เดิมสวนสราญรมย์
เป็นเขตพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409
สวนสราญรมย์ก่อสร้างขึ้นในช่วงต้นรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2417
ตามคำแนะนำของนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ โปรดเกล้าฯ
ให้นายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์
ตามแบบอย่างในต่างประเทศ เมื่อเสด็จไปที่ใด พบพันธุ์ไม้แปลกๆก็โปรดให้
นำมาปลูกเพิ่มเติมที่สวนสราญรมย์อยู่เสมอ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานให้กับรัฐบาลใช้เป็นที่ทำการของคณะราษฎร
เมื่อ พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบสวนสราญรมย์ ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะแก่ประชาชนทั่วไป