PHRANAKHON STORY

โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร
Supported by Thai Media Fund

๑๖ แห่ง พระราชวังสำคัญในเขตพระนคร

วังบ้านหม้อ

วังบ้านหม้อ ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ฝั่งตรงข้ามกับ ศาลเจ้าพ่อหอกลอง เดิมเป็นวังประทับของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาศิลา
ซึ่งเป็นต้นราชสกุล กุญชร นับตั้งแต่ได้เข้ารับราชการที่กรมม้า และกรมคชบาล กรมพระพิทักษเทเวศร์ ได้ประทับอยู่ที่ วังบ้านหม้อ
มาจวบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ บ้านหม้อมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 3-5) ปัจจุบันวังบ้านหม้อตกอยู่
ในความครอบครองของ หม่อมหลวงแฉล้ม กุญชร ธิดาคนที่ 27 ของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ปัจจุบันเหลือเพียงท้องพระโรง ศาลาท้องพระโรง และเก๋งด้านหน้าท้องพระโรง อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาตั้งแต่สร้างวัง

สแกน AR

สัมผัสกับการท่องเที่ยวชมวัดเสมือนจริง
ได้ที่ Phranakhon story Application

ประวัติพระราชวัง

วังบ้านหม้อ

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ตั้งของวังบ้านหม้อเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวมอญประกอบอาชียขายหม้อดินเผา จึงเป็นที่มาของชื่อ
"ตำบลบ้านหม้อ" และเมื่อมีการสร้างวังขึ้นในบริเวณนี้จึงเรียกชื่อวังตามชื่อตำบลด้วย วังบ้านหม้อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิทักษ์เทเวศน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 22 ของพระองค์กับเจ้าจอมมารดาศิลา ประสูติเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2341 ทรงเป็นต้นราชสกุลกุญชร
ณ อยุธยา รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชทานวังท้ายหับเผยวังที่ 3
ให้เป็นที่ประทับ ทั้งนี้เพราะบริเวณนี้มีวังเรียงกัน 3 วัง ซึ่งรัชกาลที่ 2
ทรงพระราชทานแก่พระราชโอรสร่วมเจ้าจอมมารดาองค์เดียวกัน
องค์ละวังได้แก่ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ กรมหลวงภูวเนตร
นรินทรฤทธ์ และกรมพระพิทักษ์เทเวศ จากนั้นต่อมาเกิดไฟไหม้
ที่วังกรมหมื่นสุนทรธิบดี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวังท้ายหับเผยวังที่ 1
ไฟไหม้ไปตลอดจนถึงบริเวณบ้านหม้อกลายเป็นที่ว่าง กรมพระพิทักษ์เทเวศน์จึงทรงย้ายวังมาสร้างในบริเวณที่ว่างนี้ ต่อมาเป็นทีรู้จักกัน
ในชื่อ "วังบ้านหม้อ" จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 4
พระบรมวงศ์เธอพระองค์สิงหนาทราชดุรงค์คาฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงดูแลวังบ้านหม้อสืบมาทรงกระทั่งสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 จากนั้นเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) เป็นบุตรของพระองค์เจ้าสิงหนารถฯ ได้อยู่สืบมาจนถึงอนิจกรรม วังบ้านหม้อจึงอยู่ในความควบคุมดูแลของพระยาศรีกฤษดากรได้เลื่อนยศเป็น
พระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ ปัจจุบันวังบ้านหม้อแห่งนี้ได้อยู่ภายใต้
การดูแลของ ม.ล.แฉล้ม กุญชร ธิดาคนที่ 27 ของเจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์สืบต่อมาจนทุกวันนี้

สถาปัตยกรรม

วังบ้านหม้อ

เป็นวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง นอกเหนือไปจากพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล
จุดเด่นของวังบ้านหม้อที่ปรากฏอยู่จนถึงเวลานี้ที่สำคัญ ได้แก่

ศาลาหน้าท้องพระโรง

ตั้งอยู่เยื้องมาทางถนนอัษฎางค์เป็นศาลาไทย หลังคามุงกระเบื้องไทย ประกอบด้วยหน้ากระดานคอสองค่อนข้างสูง เชิงชายหลังคาและลาดหลังคาประดับด้วยไม้ฉลุลาย เคยใช้เป็นที่รับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ
แขกบ้านแขกเมืองเมื่อมาชมการแสดงละครดึกดำบรรพ์ โขน ละคร และดนตรีไทย
ที่เจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์จัดถวาย

ท้องพระโรง

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นรูปแบบของท้องพระโรงแบบวังเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าที่หาดูได้ยากยิ่ง ลักษณะของท้องพระโรง
เป็นเรือนไทยขนาด 5 ห้อง ไม้ฝาปะกน ทรงไทย หลังคาชั้นเดียวไม่มีมุขลด หน้าบันกรุไม้เป็นลูกฟักหน้าพรหม มุงหลังคา
ด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ตกแต่งด้วยช่อฟ้า ใบระกา และนาคสะดุ้ง หางหงส์ทาด้วยสีดินแดง มีหน้ากระดานคอสอง
คั่นระหว่างหลังคากับลาดหลังคา ท้องพระโรงยกพื้นสูง ใต้ถุนก่อปูนทึบ มีการเจาะช่องลมรูปรีตามแนวดิ่ง ด้านสกัดของ
ท้องพระโรงด้านที่หันออกถนนอัษฎางค์มีเกยหินอ่อน เพราะท่านเจ้าของวังเคยว่ากรมช้างกรมม้า ด้านหน้าท้องพระโรงหัน
สู่ทิศเหนือ มีเฉลียงประกอบด้วยราวลูกกรงยาวตลอด ท้องพระโรงมีประตูหน้าต่างแต่งไม้สลักลาย กรอบหน้าต่างแต่งกรอบ
ใน ตัดมุมมนน้อยๆ กรอบนอกหักมุมฉาก สลักกรอบเป็นร่องยาว กรอบล่างสลักไม้ฉลุเป็นลวดลายเถาดอกพุดตาน
นับเป็นส่วนงามเด่นของฝาด้านนอก

ภายในท้องพระโรงเป็นโถงยาว เฉพาะตอนในกั้นเป็นห้องในสำหรับพักก่อนออกท้องพระโรง ขอบฝาห้องตอนล่างแต่งไม้สลักลาย บานประตูสู่ห้องในและบานประตูใหญ่สู่เฉลียงหลัง เขียนสีรูปม่านสองไขมีพวงมาลัยห้อย กรอบบนสลักลายเถาพุดตานปิดทองล่องชาด กรอบประตูสลักเป็นรูปเกลียวเชือกชั้นหนึ่งและแกะสลักลายอีกชั้นหนึ่ง กรอบล่างของประตูหน้าต่างด้านในนั้นสลักลวดลายของ
เถาไม้ดอกเช่นกัน ภายในท้องพระโรงเป็นที่ตั้ง
ที่บูชา พระเสลี่ยง ตั่ง ของเดิมล้วนสร้างด้วยไม้สลักลายปิดทองประดับกระจก ผนังด้านที่กั้นผนังท้องพระโรงกับเฉลียงหลังนั้นติดรูปเจ้าของวังตั้งแต่พระองค์แรกจนถึงพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ห้องในเก็บพระอัฐิของบรรพบุรุษของราชสกุลกุญชรตั้งแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์เป็นต้นมา ทางเข้า-ออกท้องพระโรงยกเป็นแท่นก่ออิฐ พร้อมด้วยบันได ประตู หน้าต่างใช่เป็นลักษณะบานไม้แผ่นเดียวใช้เดือยเป็นบานพับ
กรอบหน้าต่างประดับด้วยหย่องไม้จำหลักลาย ภายในท้องพระโรงมีฝ้าและฝาเป็นไม้ทาสีนวล
ส่วนหนึ่งทางทิศตะวันออกกั้นฝาด้วยไม้ ประตูทางเข้ามีกรอบจำหลักลวดลายปิดทอง เป็นลักษณะของศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ในอดีตเจ้าของวังใช้ท้องพระโรงออกบัญชาข้อราชการและใช้เป็นที่ซ้อมละคร ปัจจุบันปิดรักษาไว้ ใช้อยู่อาศัยเฉพาะบริเวณเฉลียงด้านหลังเท่านั้น

เก๋งด้านหลังท้องพระโรง

ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงหลังเดียว โดยถูกรื้อลงไปหลังหนึ่งเพราะชำรุดผุพังเกินกว่าที่จะปฏิสังขรณ์ได้ มีลักษณะเป็นตึกยาว ใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้องแบบจีน ผนังแต่งเสาอิงทรงสี่เหลี่ยม มีหัวเสาสี่เหลี่ยมแบบเรียบ ใช้เป็นที่อยู่อาศัย

อ้างอิงจาก
Wikipedia. วังบ้านหม้อ.  สืบค้นจาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/วังบ้านหม้อ
สำนักวัฒนธรรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมาหนคร. บางกอกเล่า (เรื่อง) วัง. กรุงเทพฯ : สำนัก. 2555.
คณะกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม. (2547). 174 มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สมาคมสถาปนิกสยาม.

นำทางเที่ยว

วังบ้านหม้อ