PHRANAKHON STORY

โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร
Supported by Thai Media Fund

๑๖ แห่ง พระราชวังสำคัญในเขตพระนคร

วังเทวะเวสม์

วังเทวะเวสม์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อปี พ.ศ. 2457 บนที่ดิน 24 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือ
ของวังบางขุนพรหม ทางทิศใต้ของวังเทเวศร์ บนถนนสามเสน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้

สแกน AR

สัมผัสกับการท่องเที่ยวชมวัดเสมือนจริง
ได้ที่ Phranakhon story Application

ประวัติพระราชวัง

วังเทวะเวสม์

วังเทวะเวสม์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อปี พ.ศ. 2457 บนที่ดิน 24 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือของวังบางขุนพรหม ทางทิศใต้ของวังเทเวศร์ บนถนนสามเสน ที่พระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้

สถาปัตยกรรม

วังเทวะเวสม์

ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์

ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยเอดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ ลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรป 3 ชั้น หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ประกอบด้วยเสาไอโอนิก (Ionic) ที่มุขทางเข้าตำหนัก และเสาแบบคอรินเธียน (Corinthian) ที่ผนังอาคารชั้นบน ซึ่งออกแบบโดย การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2461

ตึก 8 อาคาร

อาคารย่อย ประกอบด้วยตึก 8 อาคาร ออกแบบโดยเอมิลโย โจวันนี กอลโล (E.G. Gollo) สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้ดูแลการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

1. ตำหนักใหญ่
2. เรือนหม่อมพุก
3. เรือนหม่อมลม้าย
4. เรือนหม่อมปุ่น - (ปัจจุบัน ยังเป็นที่พำนักของทายาทราชสกุลเทวกุล)
5. เรือนหม่อมจันทร์
6. ตำหนักพระโอรสพระธิดา ประสูติแต่หม่อมพุก
7. ตำหนักหม่อมเจ้าปรีดิเทพพงษ์ - (ปัจจุบันขายให้ นายบัณฑูร ล่ำซำ นัดดา (หลานตา) ของหม่อมเจ้าปรีดิเทพพงษ์ ไปสร้างใหม่ที่ "บ้านสามญาณ" ใกล้วัดญาณสังวราราม ตั้งชื่อว่า เรือนเทวะเวสม์)
8. เรือนแพริมน้ำ

ปัจจุบัน อาคารทั้ง 8 อาคาร มีจำนวน 5 อาคาร คือ
ตำหนักใหญ่เรือนหม่อมลม้าย เรือนหม่อมจันทร์ ตึกหม่อมปุ่น และเรือนแพริมน้ำ

กระทรวงสาธารณสุขได้ซื้อวังเทวะเวสม์

หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2466 กระทรวงสาธารณสุขได้ซื้อวังเทวะเวสม์จากทายาท และได้ใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เมื่อหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้นและคับแคบ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ที่วังบางขุนพรหมติดกันทางทิศใต้ ต้องการขยับขยาย จึงได้มีการเจรจาแลกพื้นที่กัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดิน 400 ไร่ ในจังหวัดนนทบุรี พร้อมทั้งสร้างอาคารให้ แลกกับการเข้าไปเป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดของวังเทวะเวสม์ เมื่อ พ.ศ. 2530

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในวังเทวะเวสม์ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 ได้บูรณะเรือนแพ และตำหนักใหญ่ แล้วเสร็จ เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถาน มีห้องแสดงพระประวัติของบุคคลสำคัญและห้องแสดงวิธีอนุรักษ์โบราณสถานวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ในเชิงวิชาการด้านสถาปัตยกรรม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธี
เปิดวังเทวะเวสม์ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547

นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ

การออกแบบ ตำหนักใหญ่ออกแบบและก่อสร้างโดยนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ ภายใต้ชื่อบริษัทสยามอาร์คิเทกต์ ส่วนอาคารบริวารหลังอื่น ๆ รวมทั้ง เรือนแพริมน้ำออกแบบและก่อสร้างโดยนายเอมิลโย โจวันนี อูเจนโย กอลโล วิศวกรชาวอิตาลี สถาปัตยกรรม รูปแบบสถาปัตยกรรมของตำหนักใหญ่เป็นสไตล์คลาสสิกใหม่ ซึ่งได้นำองค์ประกอบสถาปัตยกรรมยุคกรีกและโรมันมาประยุกต์เป็นเครื่องประดับตกแต่งอาคาร ปัจจุบัน วังเทวะเวสม์ ยังคงปรากฏความงดงามอวดสู่สายตาผู้เข้ามาติดต่อธนาคาร มีจำนวน 4 อาคาร คือ ตำหนักใหญ่ เรือนแพริมน้ำ เรือนหม่อมลม้าย และเรือนหม่อมจันทร์

ห้องสำคัญในตำหนักใหญ่วังเทวะเวสม์

วังเทวะเวสม์

ห้องเทพสถิตสถาพร

ตั้งอยู่ที่ชั้นล่าง ด้านทิศใต้ นำเสนอพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการผ่านวีดิทัศน์ "สามแผ่นดิน สามฐานันดร" นอกจากนี้ ยังมีสื่อมัลติมีเดียเล่าเรื่อง "พระประวัติ พระกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ" และลำดับเหตุการณ์ที่สะท้อนภาพบทบาทของเสนาบดีคู่ราชบัลลังก์ ที่พระองค์ทรงดำรงไว้ตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยความจงรักภักดี สื่อจัดแสดงที่โดดเด่นชวนติดตามคือ "หุ่นจำลองประกอบการเคลื่อนไหว วิกฤตการณ์ ร.ศ.112" เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่กระทบจิตใจคนไทยทุกคน เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงบทบาททางการทูตของพระองค์ที่เต็มไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพและพระวิริยอุตสาหะได้เป็นอย่างดี สำหรับวัตถุประกอบการจัดแสดงนั้น โดดเด่นด้วยพระรูปหินอ่อนแกะสลักฝีมือของ Robert Wening ประติมากรชาวสวิสที่เข้ามาในประเทศไทยครั้งรัชกาลที่ 5 และมีของใช้ส่วนพระองค์ เช่น เข็มกลัดเพชรตรา วปร (มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช) ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 รัดพระองค์ นาฬิกาพก พระธำมรงค์ที่มีพระตราประจำพระองค์ หีบเครื่องพระสำอางค์ กระดานหมากรุก และที่สำคัญคือ ปฏิทินหลวงที่มีลายพระหัตถ์ของพระองค์ที่ใช้บันทึกเหตุการณ์ประจำวัน และ เทวะประติทิน ซึ่งของสองสิ่งนี้สะท้อนพระอัจฉริยภาพของพระองค์ทางด้านดาราศาสตร์ไว้อย่างเด่นชัด

ห้องบุราณสถานบูรณะ

ตั้งอยู่ชั้นล่าง ด้านทิศเหนือนำ เสนอเรื่องราวของการอนุรักษ์อาคารโบราณสถานของธนาคารแห่งประเทศไทย เหมาะสำหรับผู้เข้าชมที่มีความสนใจในงานอนุรักษ์อาคารโบราณสถานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนำเสนอเนื้อหานิทรรศการเกี่ยวกับแนวคิดของการอนุรักษ์อาคาร การปฏิบัติงานอนุรักษ์อาคารโบราณอย่างละเอียด นอกจากนี้ผู้เข้าชมยังได้รับความรู้ "เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย" ผ่านสื่อมัลติมีเดีย
ที่จัดทำขึ้นจากองค์ความรู้ที่รวบรวมรวมไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

ห้องเทพไท้ประทานพร

ตั้งอยู่บนชั้นสอง ด้านทิศตะวันตก ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงใช้เป็นห้องรับรองพระราชวงศ์ อาคันตุกะสำคัญ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว
ห้องนี้ใช้เป็นห้องบำเพ็ญกุศลพระศพของพระองค์

ห้องสโมสรปัญญา

ตั้งอยู่บนชั้นสอง ด้านทิศใต้ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการยังดำรงพระชนม์อยู่นั้นทรงใช้เป็น
ห้องเล่นกีฬาบิลเลียต ปัจจุบันใช้เป็นห้องบรรยายและห้องประชุม

อ้างอิงจาก
Wikipedia. วังเทวะเวสม์.  สืบค้นจาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/วังเทวะเวสม์
ธนาคารแห่งประเทศไทย. พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้: วังเทวะเวสม์.  สืบค้นจาก https:// bot.or.th/Thai/MuseumAndLearningCenter/BOTMuseum/Devavesm/Pages/default.aspx

นำทางเที่ยว

วังเทวะเวสม์