PHRANAKHON STORY

โครงการประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมสมัยให้หัวใจพระนคร Supported by Thai Media Fund

ประวัติศาสตร์ชุมชน
ในเขตพระนคร

โครงการขอเสนอที่ตั้ง อาณาเขต ประวัติ สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต
สภาพแวดล้อมของคนในชุมชนรวมถึงสถานที่สำคัญๆในชุมชน
โดยเสนอชุมชนได้แก่ ชุมชนสามแพร่ง ชุมชนบางลำพู
ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ชุมชนบ้านบาตร 

สามแพร่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ร่วมกันของวังกับบ้าน โดยมีการสร้างวังพร้อมกับการสร้างตึกแถวให้ผู้คนเช่าบริเวณหน้าวังหรือรอบวัง

บางลำพูคือเป็นแหล่งที่มีงานช่างฝีมืออันประณีตงดงามทั้งเครื่องทอง เครื่องถม และยังเป็นย่านตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

ถนนจักรพรรดิพงษ์เมื่อมีตึกแถวเกิดขึ้น การค้าก็ตามมา เกิดการตั้ง โรงพิมพ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย สวยมากอยู่ทางด้านถนนนครสวรรค์ ซึ่งกิจการส่วนมากขยายตัวมาเป็นสำนักพิมพ์

บ้านบาตรเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการทำ บาตรพระด้วยมือ ตามแบบอย่างโบราณมาโดยตลอด

"สามแพร่ง"

"บางลำพู"

"จักรพรรดิพงษ์"

"บ้านบาตร"

คลิกรับชมหัวข้อที่ด้านล่างนี้ 

  • ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนสามแพร่ง

    สามแพร่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ร่วมกันของวังกับบ้าน โดยมีการสร้างวังพร้อมกับการสร้างตึกแถวให้ผู้คนเช่าบริเวณหน้าวังหรือรอบวังเพื่อหารายได้  เห็นได้ชัดเจนจากวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และในภายหลังกรมหมื่นภูธเรศฯ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงซื้อวังของกรมหมื่นภูธเรศฯ และโปรดให้รื้ออาคารเก่าแล้วสร้างขึ้นเป็นตึกแถวให้ชาวต่างชาติและชาวบ้านมาเช่าเปิดห้างร้านและอาศัยอยู่รอบวังแทน
  • ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนบางลำพู

    บางลำพูคือเป็นแหล่งที่มีงานช่างฝีมืออันประณีตงดงามทั้งเครื่องทอง เครื่องถม และยังเป็นย่านตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่วันนี้บางลำพูถูกกลบด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงต่างๆ กลายเป็นถิ่นพำนักของชาวต่างชาติ มีที่พักราคาถูก ร้านอาหารหลายระดับหลายราคา รวมทั้งเสียงเพลงและแสงสีที่ทำให้บางลำพูมีชีวิตเคลื่อนไหวเกือบตลอดค่ำคืน
  • ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนจักรพรรดิพงษ์

    ถนนจักรพรรดิพงษ์เมื่อมีตึกแถวเกิดขึ้น การค้าก็ตามมา ช่วงต้นพ.ศ.2500 เกิดการตั้งโรงพิมพ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย สวยมากอยู่ทางด้านถนนนครสวรรค์ ซึ่งกิจการส่วนมากขยายตัวมาเป็นสำนักพิมพ์ …โรงพิมพ์เก่าในย่านนนี้ที่ยังคงกิจการมาแต่ต้นก็เช่น รุ่งรัตน์การพิมพ์และ โรงพิมพ์เพลินจิต สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นจุดนัดพบของนักเขียนกรุงเทพฯ ในยุคหนึ่งไปด้วยปริยาย
  • ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนบ้านบาตร

    บ้านบาตรเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการทำบาตรพระด้วยมือ ตามแบบอย่างโบราณมาโดยตลอดเอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือรอยตะเข็บ 8 ชิ้นจางๆที่ปรากฏอยู่รอบบาตร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพุทธประวัติที่ว่า บาตรใบแรกของพระพุทธเจ้าคือบาตรที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายและเกิดหายไป ท้าวจตุมหาราช เทพผู้อภิบาลรักษาโลกประจำอยู่ในทิศทั้ง 4 จึงนำบาตรศิลามีพรรณรังสีเขียวมาถวายองค์ละ 1 ใบ พระองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่อธิษฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น

    ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนสามแพร่ง

    { รับชมรายละเอียดในหัวต่างๆ คลิกหัวข้อด้านล่างนี้ }

    ที่ตั้งชุมชนสามแพร่ง

    ตั้งอยู่ที่แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งชุมชนคลองคูเมืองเดิมแห่งนี้ถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในด้านที่ชิดกับคลองคูเมืองเดิมชั้นใน โดยพื้นที่รวมของชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่

    อาณาเขตชุมชนสามแพร่ง

    ทิศเหนือติดกับถนนศิริอำมาตย์,ทิศใต้ติดกับถนนบำรุงเมือง,ทิศตะวันตกติดกับถนนอัษฎางค์และคลองคูเมืองเดิม,ทิศตะวันออกติดกับถนนตะนาว

    ประวัติชุมชนสามแพร่ง

    สามแพร่ง เป็นที่ตั้งวังของ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสามพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ ส่วนคำว่า "แพร่ง" นั้น แปลว่า ทางแยก ทางบก ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนผ่านวังทั้งสามเพื่อเชื่อมถนนตะนาวและถนนอัษฎางค์จึงเกิดเป็นทางสามแพร่ง และนำพระนามของทั้งสามพระองค์มาตั้งเป็นชื่อถนน ได้แก่ แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ และแพร่งภูธร บริเวณแพร่งนราเคยเป็นบริเวณวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายวรรณากร
    ต้นราชกุลวรวรรณ พระราชโอรสองค์ที่ 54 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเขียน ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2432 ทรงกำกับกรมพระคลัง
    มหาสมบัติในตำแหน่งรองเสนาบดี พระองค์ท่านทรงเป็นผู้ที่มีปรีชาสามารถในการประพันธ์อย่างมาก ท่านทรงเป็นผู้นิพนธ์บทละครร้องและเป็นผู้สร้างโรงละคร "ปรีดาลัย" ภายในพระราชวังของท่าน ซึ่งเป็นโรงละครร้อง
    แห่งแรกของประเทศไทย ในยุคนั้นถือว่าละครร้องเป็นละครศิลปะแนวใหม่
    ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์นำแบบอย่างมาจาก
    ต่างประเทศและดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของเมืองไทย ปรากฏว่า
    โรงละครดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยชื่อของคณะละครก็คือ "คณะละครนฤมิต" และต่อมาได้รับพระราชทานชื่อใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ว่า "ละครหลวงนฤมิต" เป็นเหตุให้ในยุคนั้นย่านนี้เป็นแหล่งแวดวงของกลุ่มสังคมชั้นสูง

    ถนน “แพร่งนรา”

    ชื่อของถนน “แพร่งนรา” ก็ได้มาจากพระนามกรของพระองค์ท่านนั่นเอง พระตำหนัก และตำหนักภายในวังสมัยแรกสร้างเป็นอาคารปูนผสมไม้ 3 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตก ภายในพระตำหนักฉลุลวดลายตามระเบียงไว้สวยงาม โดยเฉพาะทางพระตำหนักปีกขวาสามารถมองเห็นได้จากริมถนนแพร่งนรา ด้านบริเวณปีกซ้ายชั้นสองของพระตำหนักมีระเบียงฉลุไม้ลายโปร่งยื่นล้ำออกมาข้างหน้า ด้านบนระเบียงคือแนวหน้าต่างเกล็ดไม้ที่ตีฝาเป็นห้องกว้างไปจนสุดปลายระเบียง แต่เดิมห้องกว้างใหญ่นี้คือ สถานที่ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์
    ใช้เป็นที่ประทับชมละครที่แสดง ณ โรงละครปรีดาลัย สำหรับบริเวณด้านหน้าซุ้มประตูและกำแพงอันทอดยาวของวังใหญ่แห่งนี้ อยู่ด้านริมถนนแพร่งนราและมุมถนนบูรณศาสตร์ ด้านที่บรรจบกับแพร่งนรา มีประตูวังแทรกอยู่สองแห่งระหว่างแนวกำแพง ประตูวังสร้างเป็นซุ้มประตู หน้าบันเป็นปูนรูปจั่ว
    แบบเก่า แต่เดิมแนวกำแพงวังยาวเกือบติดถนนอัษฎางค์ที่อยู่ด้านปลายสุดของถนนแพร่งนรา เมื่อมีการตัดถนนบูรณศาสตร์ แนวกำแพงวังจึงถูกร่น
    ให้สั้นลงเท่าที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนั้นพื้นที่ที่เคยเป็นวังเดิม โรงเรียน
    ตะละภัฎศึกษาได้มาขอเช่าเป็นที่ทำการศึกษาและปิดทำการไปเมื่อปี พ.ศ.2538 แต่ก็ยังมีการดูแลตัวตำหนักเก่าไว้อยู่ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ

    "ทองแถม"

    บริเวณแพร่งสรรพศาสตร์แต่เดิมเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์ เธอกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ พระนามเดิมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า
    ทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ทรงเป็นกรมหมื่นสรรพศาสตร์ศุภกิจในรัชกาลที่ 5 และทรงเลื่อนเป็นกรมหลวงฯ ในรัชกาลที่ 6 พระองค์มีความสนพระทัยในการเล่นกล้องและถ่ายภาพยนตร์เป็นคนแรกของประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ถ่ายทำไว้ส่วนใหญ่นั้นเป็นพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 นอกจากนั้นแล้วทรงเป็นต้นราชสกุล “ทองแถม” เมื่อครั้งทรงกำกับกรมช่างมหาดเล็กหรือที่ชาวบ้านมักเรียกในสมัยก่อนว่า “ช่างทองหลวง” ได้โปรดใช้วังนี้เป็นที่ทำราชการด้วย ตำหนักเดิมนั้นกล่าวกันว่าเป็นตำหนักที่มีขนาดใหญ่โตมาก ประตูทางเข้าเป็นประตูบานใหญ่คล้ายว่ามีสามช่อง พื้นเป็นมันเข้าใจว่าปูด้วยหินอ่อนตั้งแต่ทางเข้าวังไปจนถึงตัวตำหนักเดิมโดยแบ่งเป็นสองตอน พวกฝรั่งและช่างทองในสมัยนั้นพักอยู่ในตอนแรกของวัง

    "สถาปัตยกรรม"
    ชุมชนสามแพร่ง

    Arch (ลักษณะของสถาปัตยกรรมจากประเทศฝรั่งเศส) เหนือวงโค้งนั้นมีหน้าบันเจาะไว้เป็นวงกลม ในช่องนั้นมีประติมากรรมรูปผู้หญิงขนาดเกือบเท่าคนจริงอยู่ในท่า
    ยืนถือคบไฟ สองข้างประติมากรรมชิ้นนี้แบ่งเป็นช่อง
    กรุด้วยกระจกหลากสี ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดเสียหายไปบางแผ่น ประตูแห่งนี้ได้รับการซ่อมแซมใหม่โดยเฉพาะส่วนเสาค้ำยันด้านล่าง อีกทั้งมีการก่อสร้างอิฐเรียงค้ำยันเพื่อพยุงน้ำหนักของด้านบนกันล้มเพิ่มเติมไว้ทั้งสองข้าง โดยภายในด้านข้างจะมีคำจารึกเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประตูวังแห่งนี้อย่างคร่าวๆ

    ถนนบำรุงเมือง
    ถนนอัษฎางค์
    ถนนตะนาว
    ถนนแพร่งนรา

    บริเวณแพร่งภูธร

    แพร่งภูธรมีชื่อถนนมาจากพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
    กรมหมื่น ภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ ต้นราชสกุลทวีวงศ์ เป็น
    พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    และเจ้าจอมมารดาตลับ กรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์
    ทรงประทับ ณ วังซึ่งพระบรมราชชนกโปรดให้สร้างขึ้น
    ณ พื้นที่ที่เคยเป็นวังเก่ามาก่อนตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 2
    เรียกว่า วังริมสะพานช้างโรงสีหรือวังเหนือ เป็นที่ประทับ
    เดิมของพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 คือกรมหมื่นสนิทนเรนทร์
    และกรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา เมื่อพระองค์เจ้าทั้งสองสิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงซื้อที่ดินโปรดให้สร้างวังขึ้นใหม่ คือบริเวณหัวมุมสี่กั๊ก
    เสาชิงช้า ริมถนนบ้านตะนาว ในการสร้างวังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อตำหนักในพระราชวัง
    นันทอุทยานมาสร้างเป็นที่ประทับพระราชทานกรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ หลังจากกรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2440 ทายาทของพระองค์ได้ขายวังให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว จากนั้นพระราชทานชื่อถนนย่านนั้นว่า "ถนนแพร่งภูธร" บริเวณแพร่งภูธรจรดถนน 3 ด้าน ได้แก่ ถนนอัษฎางค์ ถนนบำรุงเมือง และถนนตะนาว ปัจจุบันวังซึ่งเป้นที่ประทับ
    ของกรมหมื่นภูธเรศรธำรงค์ศักดิ์ที่ยังเหลือให้เห็นคือตึกอนุสรณ์สมเด็จพระปิตุจฉาสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
    ซึ่ง ปัจจุบันเป็น "สุขุมาลอนามัย" กับตึกแถวบริเวณโดยรอบ
    ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือว่าแพร่งภูธรเป็นบริเวณ
    ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลามากกว่าบริเวณอื่น คือนอกจากการเกิดใหม่ของอาคารพักอาศัยและอาคารพาณิชย์แล้ว ยังเกิดสถานบริการชุมชนด้านสาธารณสุขคือสถานีอนามัยสุขุมาล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2466 ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชนแพร่งภูธรในขณะนั้นเป็นตึกแถวสูงสองชั้นโอบล้อมพื้นที่ว่าซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวตำหนักเดิม มีการวางแนวตึกแถว
    ให้หันหลังชนกับตึกแถวบริเวณริมถนนบำรุงเมือง
    ถนนอัษฎางค์ ถนนตะนาว และถนนแพร่งนรา

    วิถีชุมชนสามแพร่ง

    ผู้คนในชุมชน

    ชุมชนคลองคูเมืองเดิมแห่งนี้เกิดขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ในระยะ นั้นบริเวณรอบเมืองพระนครมักจะมีการขุดคลองเพื่อใช้โดยสารติดต่อกัน โดยมีคลองคูเมืองเดิมเป็นคลองสายหลักจนเกิดการรวมตัวของผู้คน อีกทั้งชุมชนนี้ก็เป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ใกล้เขตพระบรมมหาราชวังและเคยเป็นวังเก่าของพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งเป็นที่พักอาศัยของ ข้าราชการ ข้าราชบริพาร และช่างฝีมือในพระราชวังในอดีต โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินในเขตนี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของคนในสังคมชั้นสูงที่มักจะเป็นเชื้อพระวงศ์ เมื่อข้าราชบริพารเหล่านี้เสียชีวิตลงประกอบกับบางส่วนได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ต่อมาชาวจีนพากันอพยพเข้ามาอยู่อาศัยแทน เป็นเหตุทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อลูกหลานของชาวจีนเหล่านี้เติบโตขึ้นก็ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น อาชีพส่วนใหญ่ของคนในชุมชนมักจะเป็นอาชีพค้าขาย

    สามแพร่งเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการอยู่ร่วมกันของวังกับบ้าน โดยมีการสร้างวังพร้อมกับการสร้างตึกแถวให้ผู้คนเช่าบริเวณหน้าวังหรือรอบวังเพื่อหารายได้ เห็นได้ชัดเจนจากวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และวังกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และในภายหลังกรมหมื่นภูธเรศฯ สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงซื้อวังของกรมหมื่นภูธเรศฯ และโปรดให้รื้ออาคารเก่าแล้วสร้างขึ้นเป็นตึกแถวให้ชาวต่างชาติและชาวบ้านมาเช่าเปิดห้างร้านและอาศัยอยู่รอบวังแทน

    สภาพชุมชนสามแพร่งในอดีต

    ถือเป็นย่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคสมัยนั้น เนื่องจากมีการ พัฒนาระบบสัญจรทางบก ทั้งแนวทางรถรางและรถประจำทางในสมัยต่อมาและการสร้างตึกพาณิชย์อยู่อาศัยขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว จึงมีการประกอบการค้าที่เฟื่องฟูมาก เพราะที่ตั้งชุมชนมีทำเลอยู่ในตำแหน่งที่เป็นตัวเชื่อมของเมืองเก่าที่ออกสู่เมืองชั้นนอกที่สำคัญ และด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกรุงเทพฯ สมัยก่อนนั้นค่อนข้างรุ่งเรือง ทำให้ย่านดังกล่าวกลายเป็นแหล่งที่จับจ่ายซื้อของและเส้นทางในการสัญจร ดังนั้นร้านค้าในย่านนั้นจึงเป็นร้านที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากผู้คนจนมาถึงปัจจุบัน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีการตั้งหน่วยงานราชการสำคัญในบริเวณสามแพร่ง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม จึงมีร้านอาหารเกิดขึ้นมากมายเพื่อไว้บริการข้าราชการและผู้มาติดต่อ นอกจากนี้สามแพร่งยังเป็นแหล่งจำหน่ายเครื่องแบบข้าราชการและนักเรียน ตลอดจนเครื่องหนัง แว่นตา นาฬิกา และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ส่งเสริมให้ความคึกคักและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2500 ต่อมาเมื่อการจราจรลดความหนาแน่นลงและการย้ายส่วนราชการออกไปจากพื้นที่ทำให้ผู้คนลดลง การค้าย่านสามแพร่งจึงไม่รุ่งเรืองเหมือนในอดีต คนในชุมชนจึงหันมาขายของให้กับนักท่องเที่ยวแทนกลุ่มข้าราชการเช่นในอดีต กลุ่มชุมชนริมคลองคูเมืองเดิม ชุมชนแพร่งนรา ชุมชนแพร่งภูธร เป็นสังคมเมืองที่ยังคงมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะกับส่วนวิชาชีพหรือการค้าเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ร้านช่างทอง โดยมาเป็นร้านชุบทองหรือโลหะมีค่าประเภทอื่นๆ ในส่วนพื้นที่สามแพร่งยังคมมีอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่เช่นสมัยก่อนที่ตรอกช่างทองยังมีชื่อเสียง คงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจายไปภายในทั้งสามแร่ง ร้านอหารและร้านขนม ร้านอาหารมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากและขายต่อเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะแพร่งภูธรและแพร่งนรา เช่น ร้านข้าวเหนียวมูน ก.พานิช ร้านอุดมโภชนา นัฐพรไอศกรีม ร้านโชติจิตร ลูกชิ้น-สมองหมู ไทยทำ ในย่านแพร่งภูธร และขนมเบื้องไทยโบราณในย่านแพร่งนรา เป็นต้น นอกจากนี้ยังร้านอื่นๆ เช่น ร้านแพทย์แผนไทย และร้านขายของเก่า แต่เริ่มชะลอการค้าขายไปเนื่องจากลูกหลานหันไปทำอาชีพอื่น สามแพร่งถือเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และทั้งย่านที่อยู่อาศัย สืบทอดวิถีชีวิตมาถึงสามชั่วอายุคน ซึ่งผู้คนในชุมชนสามแพร่งต่างตระหนักถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมภายในชุมชน จึงพยายามอนุรักษ์สิ่งเดิมให้คงอยู่ตลอดไป

    ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนบางลำพู

    { รับชมรายละเอียดในหัวต่างๆ คลิกหัวข้อด้านล่างนี้ }

    ที่ตั้งชุมชนบางลำพู

    บางลำพูมีบริเวณที่ตั้งอยู่ย่านบางลำพูเขตพระนครกรุงเทพมหานคร

    อาณาเขตชุมชนบางลำพู

    ทิศเหนือติดต่อกับถนนพระสุเมรุ ทิศใต้ติดต่อกับถนนข้าวสาร ทิศตะวันออกติดต่อกับวัดบวรนิเวศวิหาร ทิศตะวันตกติดต่อกับวัดชนะสงคราม

    บางลำพูเป็นที่อยู่ของผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน แขก มอญ เริ่มแรกจากชาวไทยที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมริมแม่นํ้าเจ้าพระยา แถบหลังวัดสังเวชฯ ทางด้านวัดชนะสงคราม มีชาวมอญจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆวัด สำหรับชาวจีนอาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ตรงตรอกสุเหร่า ชาวมุสลิมเหล่านี้เป็นช่างทองอพยพมาจากภาคใต้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ภายในหมู่บ้านมีสุเหร่าจักรพงษ์เป็นสถานที่ประชุม ทำศาสนกิจของชาวมุสลิม หากในปัจจุบันชุมชนบางลำพูกลายเป็นชุมทางชาวต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามาเที่ยว ชมบนถนนข้าวสารหลายล้านคนต่อปี มีความหลากหลายของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ถูกนำเข้ามาจากบุคคลหลากเชื้อชาติ ชุมชนที่มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ร้านรวงต่างๆในย่านบางลำพูก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้นกลุ่มของเราจึงมีความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เข้าใจความเป็นมา ความเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของ ชุมชนบางลำพู : พื้นที่ และวิถีของความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างชัดเจนขึ้น

    สถานที่แห่งแรกที่แก้จากคำว่า“บางลำภู”มาเป็น“บางลำพู”คือที่ทำการไปรษณีย์บางลำพูถนนสิบสามห้างบางลำพูเคยมีต้นลำพูอยู่หนาแน่นมีหิ่งห้อยส่องแสงระยิบระยับเกาะอยู่ที่ต้นลำพูเป็นภาพอดีตครั้งสร้างกรุงเทพฯปัจจุบันต้นลำพูเหลือเพียงกลุ่มเดียวในสวนสันติชัยปราการแต่ชุมชนก็ยังมีความน่าสนใจตรงที่เป็นปากทางคลองรอบกรุงทั้งเป็นแหล่งรวมชาวไทยจีนมอญลาวเขมรมาแต่อดีตเป็นย่านการค้าขายที่ไม่เคยซบเซามาจนทุกวันนี้ย่านบางลำพูครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปจนถึงวัดบวรนิเวศส่วนอีกด้านหนึ่งนับจากถนนข้าวสารไปจนถึงวัดสามพระยาศูนย์กลางของย่านบางลำพูจะอยู่แถวๆตึกห้างนิวเวิลด์เก่า

    ประวัติชุมชนบางลำพู

    บางลําพู เป็นชื่อย่านสําคัญในอดีต นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยปัจจุบัน มีทั้งตลาดสด และตลาดขายสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิด และยังเรียกคลองรอบกรุงส่วนที่ผ่านบางลําพูนี้ว่า “คลองบางลําพู” อีกด้วย ชุมชนบางลำพูเป็นชุมชนที่มีประวัติความเป็นมาของพื้นที่ที่ยาวนาน มีความน่าสนใจทั้งในด้านความหลากหลายของเชื้อชาติ วัฒนธรรมภายในชุมชน การเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญทั้งในอดีตยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและการปรับตัวของชุมชนทั้งในด้านวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน การเปลี่ยนแปลงของย่านการค้า ความเข้มแข็งของคนในชุมชนที่ทำให้ชุมชนบางลำพูกลายเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังไม่ได้ทิ้งเสน่ห์แห่งบางลำพูไปการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจาก ย่านเก่าในกรุงเทพ (เล่มที่ 1) พบว่า ชุมชนบางลำพู ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนพระอาทิตย์ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาลงไปจนถึงวัดบวรนิเวศ ส่วนอีกด้านหนึ่งนับจากถนนข้าวสารไปจนถึงวัดสามพระยา ศูนย์กลางของ ย่านบางลำพูจะอยู่แถวๆ ตึกห้างนิวเวิลด์เก่าตลาดบางลำพูในสมัยก่อนยังไม่ค่อยคึกคักเท่าใดนัก เป็นเพียงตลาดเล็กๆ ไม่ใหญ่โตเท่าตลาดเสาชิงช้าต่อมาเมื่อมีการตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้สร้างตลาดแบบทันสมัย สะอาด ถูกสุขลักษณะ ให้ชื่อว่า ตลาดยอดพิมาน ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่า ตลาดยอด มีอาคารร้านค้าเกิดขึ้นโดยรอบตลาดมากมาย จำหน่ายสินค้านานาชนิด ตั้งแต่ดอกไม้ธูปเทียน เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหารคาวหวาน ฯลฯบางลำพูในอดีตจึงเปรียบได้กับห้างสรรพสินค้าในสมัยนี้ นอกจากนี้ยังมีสิ่งบันเทิงควบคู่ไปกับการจำหน่ายสินค้า เช่น โรงละคร โรงลิเก โรงภาพยนตร์หลังจาก พ.ศ. 2394 ย่านบางลำพูก็ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามริมคลอง อาศัยคลองบางลำพูเป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายสินค้าทางเรือ

    บางลำพูเป็นชื่อย่านการค้าสำคัญในอดีตนับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม- เกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยปัจจุบันมีทั้งตลาดสดและตลาดขายสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดและยังเรียกคลองรอบกรุงส่วนที่ผ่านบางลำพูนี้ว่า“คลองบางลำพู”อีกด้วย บางลำพูชื่อนี้มีการถกเถียงถึงที่มานักภาษาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า“ลำพู”มาจากคำว่า“Su-ngaiLampu”เป็นภาษามลายูออกเสียงว่า“สุไหงลัมปู”แปลว่าคลองที่มีตะเกียงซึ่งหมายถึงกระโจมไฟให้สัญญาณการเดินทางทางน้ำในสมัยโบราณบางท่านว่าเป็นเพราะแถบนี้มีตัวหิ่งห้อยซึ่งเป็นแมลงที่มีแสงเรืองในตัวจำนวนนับพันตัวส่องแสงระยิบระยับราวกับตะเกียงด้วยเหตุที่สันนิษฐานดังนี้การเขียนชื่อ“บางลำพู”จึงเป็น“บางลำภู”อยู่ระยะหนึ่งจนถึงประมาณปีพ.ศ. 2550 มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดทำโครงการ“ถนนคนเดิน”ได้ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชุมชนย่านบางลำพูจึงเกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับชื่อบางลำพูว่าชื่อนี้น่าจะมาจากต้นลำพูซึ่งเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งชอบขึ้นตามริมน้ำป่าชายเลนที่มีน้ำกร่อยจนถึงน้ำจืดหรือบริเวณริมป่าที่ติดกับแม่น้ำลำคลองที่มีโคลนเลนและน้ำท่วมถึงซึ่งในสมัยโบราณเล่ากันว่าบริเวณนี้มีต้นลำพูขึ้นอยู่หนาแน่นกระจายไปจนถึงบริเวณสองฝั่งปากคลองรอบกรุงด้วยความหนาแน่นของต้นลำพูบริเวณนี้ทำให้เกิดอาชีพสำคัญคือการตัดรากของต้นลำพูเอาไปทำจุกปิดขวดยานัตถุ์ขวดยาธาตุพวกพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาตามลำนํ้าเจ้าพระยาเพื่อจะเข้าคลองรอบกรุงจะใช้ดงลำพูนี้เป็นที่หมายว่าถึงปากคลองรอบกรุงแล้วในตอนกลางคืนแสงระยิบระยับจากหิ่งห้อยที่ชอบเกาะอยู่ที่ต้นลำพูก็เป็นที่หมายสำคัญว่าถึงคลองรอบกรุงแล้วจึงเรียกที่หมายนี้ตามลักษณะสำคัญของบริเวณว่า“บางลำพู”และ“คลองบางลำพู”

    ที่มาของชื่อ
    "บางลำพู"

    เนื่องจากบริเวณพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีต้นลำพูขึ้นตามชายเลนน้ำท่วมถึงอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของต้นลำพูมีรากขึ้นเหนือพื้นดินมีตัวหิ่งห้อยซึ่งมีแสงสว่างอยู่ที่ก้นชอบเกาะ อยู่ตามต้นลำพูในตอนกลางคืนตามต้นลำพูจะมีแสงว้อบแว้บระยิบระยับดูเหมือนมีใครนำไฟกระพริบไปประดับไว้จึงเรียกตำบลริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ว่า “บางลำพู”ปีพ.ศ.2326 มีการขุดคลองคูพระนครเพื่อขยายพื้นที่เขตพระนครให้กว้างขึ้นโดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากบริเวณวัดสังเวชวิศยารามไปถึงคลองมหานาคจึงเรียกชื่อคลองตามชื่อบริเวณว่าคลองบางลำพู

    คลองบางลำภู

    คลองบางลำพูเป็นคลองขุดกว้างและลึกพอสมควรเหตุที่คลองนี้เชื่อมต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงคลองมหานาคน้ำจึงขึ้นลงอยู่ตลอดเวลามีทำนบกั้นน้ำอยู่ตรงปากคลองก่อนถึงสะพานฮงอุทิศในสมัยก่อนมีเรือขึ้นล่องไปมาค้าขายพวกเขาก็จอดเรียงรายอยู่ตามริมคลอง

    ในสมัยรัชกาลที่ 4 คลองบางลำพูเคยเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารครอบพระนครเมื่อพ.ศ.2394 หลังจากนั้นบางลำพูก็ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองอาศัยคลองบางลำพูเป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายสินค้าทางเรือมีสินค้าจากเรือกสวนจำพวกผลไม้สินค้าจากต่างจังหวัดขึ้นล่องมาขายด้วยเรือขนาดต่างๆนอกจากนี้คลองบางลำพูยังเป็นแหล่งจำหน่ายเรือขนาดต่างๆเช่นเรือประทุนเรือสำปั้นและเรือขนาดเล็ก ไม่ห่างจากคลองบางลำพูมากนักยังมีคลองเล็กๆเชื่อมต่อมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาลัดเลาะข้างวัดชนะสงครามออกไปทางวัดบวรนิเวศฯชื่อคลองรามบุตรีปัจจุบันนี้ถูกถมไปแล้วบ้านที่อยู่ริมคลองรามบุตรีเช่นบ้านเจ้าคุณนิติศาสตร์บ้านคุณหลวงบุณยมานพรวมทั้งโรงแรมเวียงใต้

    แหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ

    สิ่งที่โดดเด่นของบางลำพูคือเป็นแหล่งที่มีงานช่างฝีมืออันประณีตงดงามทั้งเครื่อง ทอง เครื่องถม และยังเป็นย่านตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่วันนี้บางลำพูถูกกลบด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงต่างๆ กลายเป็นถิ่นพำนักของชาวต่างชาติ มีที่พักราคาถูก ร้านอาหารหลายระดับหลายราคา รวมทั้งเสียงเพลงและแสงสีที่ทำให้บางลำพูมีชีวิตเคลื่อนไหวเกือบตลอดค่ำคืน การเปลี่ยนแปลงของแหล่งเศรษฐกิจ เมื่อสืบอดีตกลับไปพบว่าย่านบางลำพูแห่งนี้ เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ริมน้ำที่มีมาก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีวัดเก่าแก่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ วัดบางลำพูหรือวัดกลางนา หรือวัดสังเวชวิศยาราม และวัดชนะสงคราม ก่อนจะเติบโตเป็นแหล่งพำนักของบรรดาเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร และประชาชนพลเมืองหลายหลากชาติพันธุ์ ทั้งไทย จีน มอญ มุสลิม ที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยคละเคล้ากัน จนทำให้เป็นแหล่งเกิดอาชีพที่หลากหลาย อันเนื่องจากความชำนาญ เช่น ชาวจีนนิยมทำการค้า ชาวมุสลิมมีฝีมือทำทอง ชาวลาวทำเครื่องเงินเครื่องถม เป็นต้น ในช่วงของการสร้างกรุงฯ ตามแม่น้ำคูคลองในแถบบางลำพูมีการค้าทางเรือแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเล็กๆ น้อย ๆ กระทั่งเมื่อมีการขุดคลองรอบกรุง ทำให้เกิดท่าน้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้า พืชผักผลไม้จากย่านฝั่งธนฯ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นตลาดบกที่สำคัญในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในช่วงรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการสร้างพระราชวังดุสิตขึ้นทางตอนเหนือของพระนคร เกิดการตัดถนนหลายสายในพื้นที่บางลำพูเพื่อรองรับเครือข่ายถนนที่ตัดเชื่อมมาจากพื้นที่สามเสน ได้แก่ ถนนจักรพงษ์ ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนข้าวสาร ถนนรามบุตรี และถนนสิบสามห้าง ส่งผลให้บางลำพูเติบโตจอแจไปด้วยผู้คน รถราง และการค้าพาณิชย์ ตลาดบางลำพูที่เคยเป็นตลาดขายผลไม้และของสดต่างๆ เพื่อสนองต่อคนในพื้นที่ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และขยายตัวมากขึ้นในปลายรัชกาลที่ ๕ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถพัฒนาตลาดได้มากนัก อันเนื่องจากเกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือนในย่านนี้บ่อยครั้ง กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงมีการจัดตั้งตลาดขึ้นมาใหม่ พร้อม ๆ กับการเกิดแหล่งบันเทิงขึ้นในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงภาพยนตร์ อย่างโรงหนังปีนัง โรงหนังบุษยพรรณ โรงละครแม่บุนนาค และโรงลิเกคณะหอมหวน ธุรกิจบันเทิงเหล่านี้ส่งผลให้ย่านบางลำพูได้รับความสนใจจากบรรดาพ่อค้านักลงทุนมากยิ่งขึ้น จนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้าและเป็นศูนย์รวมมหรสพแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในระยะเวลานั้น ตลาดสำคัญของย่านบางลำพูซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในอดีต ได้แก่ ตลาดยอด ตลาดนานา ตลาดทุเรียน และสิบสามห้าง

    ตลาด ณ บางลำพู

    “ตลาดยอด”

    มีคำคล้องจองเมื่อกล่าวถึงคือ “บางลำพูประตูขาดตลาดยอด” ตั้งอยู่ เชิงสะพานนรรัตน์ฝั่งทิศใต้ เป็นตลาดใหญ่และมีความสำคัญของชุมชนบางลำพูใน ฐานะตลาดประจำชุมชนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะถูกปรับปรุงในช่วงรัชกาลที่ ๕ และรุ่งเรืองในช่วงรัชกาลที่ ๗ สินค้าที่นำมาจำหน่าย ได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน มาลัย แป้ง กระแจะ น้ำอบไทย เครื่องหอม ขนมไทยต่างๆ และบุหรี่ไทยประเภทยาใบบัว ยาใบตองอ่อน เป็นต้น (พิเชษฐ์ สายพันธ์ :๒๕๔๒) นอกจากนี้ตลาดยอดยังเป็นแหล่งเครื่องหนัง เสื้อผ้า ร้านอาหารมุสลิม ร้านเครื่องถ้วยชาม และห้างขายทองรูปพรรณต่างๆ ความรุ่งเรืองของตลาดยอดสะดุดลงจากเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลังจากไฟไหม้ในครั้งนั้นได้มีการสร้างตลาดใหม่ขึ้น แต่เนื่องจากแผงเช่ามีราคาสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าสู้ราคาไม่ไหว จึงแยกย้ายกันไป เจ้าของจึงรื้อตลาดแล้วสร้างเป็นห้างสรรพสินค้านิวเวิร์ด ตลาดสดจึงหายไป ชาวบ้านย่านนี้ได้หันไปจับจ่ายซื้ออาหารยังตลาดเช้าบริเวณถนนไกรสีห์ (ข้างนิวเวิร์ด) กับตลาดนรรัตน์ (เชิงสะพานนรรัตน์ด้านทิศใต้) แทน บริเวณตลาดยอดต้องเปลี่ยนโฉมกลายเป็นอาคารจอดรถและห้างสรรพสินค้านิวเวิร์ดที่กำลังถูกรื้อทิ้ง

    “ตลาดนานา”

    ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองรอบกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังริม คลองบางลำพู ชื่อของตลาดนานาเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อเจ้าของตลาด คือ คุณเล็ก นานา ชาวมุสลิมย่านคลองสาน ตลาดแห่งนี้ขายอาหารการกินและพืชผลทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ และของสดเป็นส่วนมาก ก่อนจะซบเซาลงในราว พ.ศ. ๒๕๒๙ และหายไปในที่สุด ในระยะหลังเจ้าของตลาดได้เปลี่ยนพื้นที่ตลาดให้เป็นโรงแรม เกสท์เฮ้าส์ ตามกระแสนิยม ตลาดนานาจึงเป็นเพียงความทรงจำของคนยุคปู่ย่าที่ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ชื่อและป้ายตลาดเท่านั้น

    “ตลาดทุเรียน”

    ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองรอบกรุง ด้านทิศใต้ของสะพานนรรัตน์ เป็นแหล่งชุมนุมทุเรียนที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูกาลทุเรียออกเป็นที่มาของชื่อตลาด นอกจากขายทุเรียนแล้ว พ่อค้าแม่ขายยังนำพืชพันธุ์การเกษตรมาขายเช่นเดียวกับตลาดนานา เช่น ผักผลไม้นานาชนิดที่ชาวสวนบรรทุกเรือมาจอดขาย แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นตลาดขายเสื้อผ้า มุ้ง และของใช้ราคาถูก ก่อนจะกลายเป็นตลาดสดในปัจจุบัน เรียกกันว่า “ตลาดนรรัตน์”

    “สิบสามห้าง”

    ปัจจุบันเป็นชื่อถนนเส้นสั้น ๆ ที่ตั้งขนานกับถนนบวรนิเวศ ชื่อถน สิบสามห้างนี้มาจากเรือนแถวไม้สองชั้นจำนวน ๑๓ ห้อง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับห้างร้านของชาวจีนในกวางตุ้ง ต่อมาเรือนแถวดังกล่าวถูกรื้อเพื่อสร้างเป็นตึก จึงเหลือไว้เพียงชื่อถนน สินค้าที่ขายในสิบสามห้าง ได้แก่ อาหารจำพวกข้าวแกง อุปกรณ์เย็บเสื้อผ้า ด้าย กระดุม เป็นต้น ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สิบสามห้างเป็นที่ชุมนุมของวัยรุ่น เพราะมีร้านอาหารเปิดขายจนดึกถึงสามสี่ทุ่ม มีร้านขายไอศกรีมซึ่งเป็นของหากินยากในยุคนั้น อีกทั้งทางร้านยังบริการเปิดโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อบันเทิงที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทยให้ประชาชนดู จึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นยุคนั้น และถือกันว่าบางลำพูสมัยนั้นเป็นย่านที่ทันสมัยแห่งหนึ่ง ตลาดเช้าเต็มไปด้วยของสดนานาชนิดจนสายตลาดจึงวาย หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นตลาดขายผ้า ขายเสื้อและรองเท้า เครื่องหนังต่าง ๆ เมื่อตลาดแบบเก่าและร้านค้ารุ่นแรกๆ เริ่มซบเซาลง กิจการการค้ารูปแบบใหม่ได้เข้ามาแทนที่และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางกิจการมีฐานเติบโตมาจากกิจการเดิม เช่น ห้างแก้วฟ้า ที่เติบโตจากร้านขายเครื่องหนังซึ่งค้าขายในยุคแรก ๆ ส่วนตลาดขายเสื้อผ้าเริ่มมีประมาณ ๒๐ ปีก่อน โดยพ่อค้าแม่ค้านิยมเอาสินค้ามาลดราคาหน้าร้านหรือเลหลังขาย โดยจับจองพื้นที่ริมถนนเปิดเป็นแผงลอยจำนวนมาก การค้าเสื้อผ้าที่ขึ้นชื่อในย่านบางลำพูแต่ก่อน คือ เสื้อผ้าชุดนักเรียนที่บรรดาผู้ปกครองต้องพากันมาซื้อหาเมื่อถึงฤดูกาลเปิดเรียน ร้านค้าเสื้อนักเรียนเปิดมากแถบถนนไกรสีห์และถนนตานี

    ภูมิปัญญาและหัตถศิลป์
    ของชุมชนบางลำพู

    บ้านช่างทอง

    บ้านช่างทอง ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ณ ชุมชนบวรรังสี รับการ ถ่ายทอดฝีมือจากช่างในวัง เป็นแหล่งผลิตทองคำเปลวแห่งแรก ปัจจุบันอาชีพช่างตีทองลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงรักษาไว้ได้ ด้วยความอุตสาหะของลูกหลาน แม้จะผลิตทองคำเปลวคุณภาพ ดีไม่แพ้กันแต่กลับได้ค่าเหนื่อยต่ำกว่า ทว่าทุกคนก็ยังยินดีที่จะ ทำหน้าที่ตีทองและตัดทองด้วยความประณีตและตั้งใจ อย่างไม่ท้อแท้ เพราะถึงอย่างไรอาชีพนี้ก็สร้างรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว และยังหล่อเลี้ยง ความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนบำรุงศาสนาและงานหัตถศิลป์ไทย ให้คงอยู่ต่อไป

    เครื่องถมไทย

    เครื่องถมไทย เกิดชุมชนบ้านพานถมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จากช่างฝีมือสอง สาขา ช่างทำเครื่องเงินและช่างทำเครื่องถม ได้ทั้งทำเครื่องถมไปเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่ต่างประเทศ อีกด้วย

    บ้านปักชุดละคร

    บ้านปักชุดละคร มรดกบนผืนผ้า ณ บ้านปักชุดละคร ชุมชนตรอกเขียน นิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ นำวิชาที่ร่ำเรียนในวังหลวงและรับราชการที่ กรมศิลปากร “ป้าเปี๊ยก” หรือ นางสมคิด หลาวทอง ได้ถ่ายทอด ความงดงามผ่านผืนผ้าให้แก่คนโขน

    ศิลปะแทงหยวก

    ศิลปะแทงหยวก กำเนิดจากชาวมอญที่เข้ามาในสยามหลายร้อยปี ในชุมชนวัดใหม่ อมตรส เป็นศิลปะที่ใช้เฉพาะคนชั้นสูงในงานอวมงคล และต้องอาศัยความ ชำนาญอย่างยิ่งปัจจุบัน นายชูชาติ แดงแนวโต สืบทอดอาชีพแทงหยวกกล้วยไว้ได้ และเป็นที่นิยมว่าจ้างไปจัดในงานศพ และศิลปะนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในช่างสิบหมู่ ของไทย

    ร้านทำเครื่องทอง

    ร้านทำเครื่องทอง เก่าแก่ที่สุด มีความประณีตงดงาม ถ่ายทอด ลวดลายอ่อนช้อยให้ประทับอยู่บนเครื่องประดับทองคำที่งดงาม ปัจจุบันลูกหลานไม่ได้ทำเครื่องทำสืบต่อ แต่เปลี่ยนมาประกอบ อาชีพทำกรอบพระเครื่องแทน

    ร้านลานทอง

    ร้านลานทอง ถึงแม้ย่านบางลำพูไม่มีต้นลานเพียงสักต้น “ร้านลานทอง” กลับผลิตข้าวของจาก ใบลานได้มากมาย เนื่องจากผู้คนนิยมชมชอบ โดยเฉพาะช่วงจอมพล ป. ที่ระบุให้ทั้งสตรี นั้นก็ต้องสวมใส่เครื่องใช้ที่เป็นใบลานเช่นกัน ปัจจุบันลูกหลานได้ยกเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตที่เก่าแก่ไว้ที่พิพิธบางลำพู

    ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนจักรพรรดิพงษ์

    { รับชมรายละเอียดในหัวต่างๆ คลิกหัวข้อด้านล่างนี้ }

    ที่ตั้งชุมชนจักรพรรดิพงษ์

    ต.โสมนัส อ.ป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

    ประวัติชุมชนจักรพรรดิพงษ์

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ พระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 3 ใน สมเด็จพระเทพศิรินท-ราบรมราชินี เป็นพระราชอนุชาร่วมพระครรโภทรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระ-บาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตรัสเรียก “ท่านกลาง” สิ้มพระชนม์เมื่อพระชันษา 44 ปี

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 2 แรม 3 ค่ำ ปีมะโรง สัปตศก จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2399 เล่ากันมา ว่ามีพระอุปนิสัยสงบเสงี่ยมและจริงจังเอาการเอางานเป็นอย่างยิ่ง ในคำกลอนสังเกตพระอัชฌาสัยเจ้านายเมื่อยังทรงพระเยาว์ ซึ่งคงจะแต่งกันล้อเล่นในหมู่เจ้านายโดยไม่ปรากฏนามคนแต่งเอ่ยถึงพระองค์ขณะพระชันษา 12 ว่า “พูดอะไรไม่เท็จ ท่านกลาง”

    ถิ่นฐานอันแสดงแหล่งชุมชน เป็นต้นกำเนิดเกิดสรรพสิ่งความดีความงามและความจริง เป็นเสน่ห์เป็นมิ่งมงคลเมือง เป็นมณฑลแห่งอารยธรรม ให้จดจำตำนานอันต่อเนื่อง ให้รู้รักบำรุงความรุ่งเรือง ให้รู้เรื่องภูมิแดนภูมิแผ่นดิน

    ถนนจักรพรรดิพงษ์ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปีพ.ศ.2443 แล้วเริ่มมีการสร้างบ้านเรือนด้วยไม้กระจายตัวอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ต่อมาจึงเกิดตึกแถวขึ้นบริเวณหัวมุมถนนช่วงสี่แยกตัดกับถนนนครสวรรค์ซึ่งเชื่อมต่อกับตึกแถวบริเวณนางเลิ้ง จากนั้นจึงเกิดตึกแถวชุดหนึ่งริมถนนจักรพรรดิพงษ์ฝั่งตรงข้าม ในปีพ.ศ.2488 จึงมีการสร้างตึกแถวต่อมาตามแนวถนนจักรพรรดิพงษ์เมื่อมีตึกแถวเกิดขึ้น การค้าก็ตามมา ช่วงต้นพ.ศ.2500 เกิดการตั้งโรงพิมพ์ต่างๆ ขึ้นมากมาย สวยมากอยู่ทางด้านถนนนครสวรรค์ ซึ่งกิจการส่วนมากขยายตัวมาเป็นสำนักพิมพ์ …โรงพิมพ์เก่าในย่านนนี้ที่ยังคงกิจการมาแต่ต้นก็เช่น รุ่งรัตน์การพิมพ์และ โรงพิมพ์เพลินจิต สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นจุดนัดพบของนักเขียนกรุงเทพฯ ในยุคหนึ่งไปด้วยปริยาย

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2439 โปรด-เกล้าฯ แต่งตั้งพระอัครราชเทวีเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 4 พระองค์และ 1 ท่าน คือ 1.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (พระยศในขณะนั้น) 2.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช 3.สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ 4.พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมหลวงดำรงราชานุภาพ 5.เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลัง ยัคมินส์)

    ระหว่างที่ทรงเป็นที่ปรึกษาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่นั้น สมเด็จฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์จะเสด็จตรวจราชการตามท้องถนนดูแลทุกข์สุขและความเป็นไปของราษฎรอยู่เสมอ ๆ จากบันทึกของนักข่าวสยามไมตรีสิริ ออบเซิร์ฟเวอร์ หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ เป็นพระราชวงศ์พระองค์หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีพระองค์แรกของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงวางรากฐานการดำเนินงานของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และทรงกำหนดระเบียบวิธีการจัดเก็บภาษีอากรอย่างเป็นระบบ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประทับอยู่ ณ พระราช- วังเดิม ซึ่งเป็นพระราชวังตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2424 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 12 ปีชวด โทศก จุลศักราช 1262 ตรงกับวันที่11 เมษายน พ.ศ. 2443 พระชันษาได้ 44 ปี

    ถนนจักรพรรดิพงษ์ ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มตัดจากถนนบำรุงเมือง แยกแม้นศรี ไปจนบรรจบกับถนนราชดำเนิน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระราชทานนามว่า “ถนนจักรพรรดิพงษ์” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์

    สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนจักรพรรดิพงษ์

    1. ร้านกล้วยทอดแม่กิมล้ง

    เกิดขึ้นในปีพ.ศ.2510 ได้รับความนิยมมากจนมีกล้วยทอดแตกแขนงออกไปอีกหลาย เจ้าเถ้าแก่ส่ง ถุงกล้วยทอดและข้าวเม่ามาให้ชาวคณะแจกจ่ายกันชิมแม้จะไม่ร้อนนัก แต่ก็ยังคงความกรอบอร่อย เอาไว้ได้บริเวณแถวย่านนางเลิ้งริม ถ.จักรพรรดิพงษ์ ต่อเนื่องไปถึง ถ. นครสวรรค์และถ.หลานหลวง มีร้านกล้วยทอดหรือกล้วยแขกระดับเจ้าตำนานประชันกันอยู่ในปัจจุบันถึง 6 ราย แต่ละร้านต่างก็สวมเอี๊ยมหรือผ้ากันเปื้อนคนละสี

    2. ร้านกาแฟหน่ำเฮงหลี

    ร้านกาแฟหน่ำเฮงหลี ดูเงียบเหงา แต่ให้ความรู้สึกอบอุ่นได้อย่างประหลาดเมื่อก้าวเท้าเข้าไปนั่งบนเก้าอี้เชคโก เท้าแขนลงบนโต๊ะหินอ่อนอิตาลีอายุรุ่นคุณปู่ คุณวิวรรณ ศิลปโภชากุล ย้อนประวัติ ‘หน่ำเฮงหลี’ชื่อร้านที่มีความหมายว่าค้าขายมีกำไรว่าเริ่มต้นมาเมื่อราว60 ปีก่อนคุณพ่อเบ้ง แซ่หง่วน เป็นคนจีนคนแรกที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้สิทธิ์เช่าอาคาร“เดิมพ่อเปิดร้านเป็นเพิงอยู่แถว ๆ นี้ โค้วตงหมง หรือ คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ชอบมานั่งกินโอยัวะ พอมาเปิดร้านที่นี่ก็เป็นที่รวมของคนเล่นหมากรุกจีน” คุณวิวรรณ เผยเคล็ดลับการชงกาแฟให้ได้รสชาติว่า ขั้นแรกต้องเลือกใช้กาแฟดี “สมัยก่อนนี้เราคั่วกาแฟเองด้วย แต่ตอนนี้คนกินน้อยลงเราก็ซื้อเค้าแต่เลือกใช้ของดีมีคุณภาพ ชาเราก็ใช้ชาซีลอนอย่างดี เมื่อใช้ของดีเวลาชงน้ำต้องร้อน ถ้วยกาแฟเราก็ต้องลวกน้ำให้ร้อนก่อน พอชงกาแฟร้อน ๆ ใส่ลงไปกาแฟมันก็ยังคงความร้อนและให้รสชาติ” นอกจากกาแฟรสดี ชาอร่อยแล้ว เมนูเด็ดของหน่ำเฮงหลี คือ สังขยาฝีมือ คุณแม่ซอกเอ็ง แซ่โซว ที่กวนสดใหม่ทุกเช้า ลูกค้าเก่าแก่นิยมสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วแวะมาจอดรถรับหน้าร้านในราคา 65 บาท ต่อครึ่งกิโลกรัม นั่งดื่มชาเย็นหอม ๆ แกล้มขนมปังสังขยาสีตุ่น ๆ หน้าตาหม่น ๆ เหมือนบรรยากาศ แค่กินเข้าไปคำเดียวแทบอยากร้องไห้ ช่างเป็นรสชาติของความอร่อยที่เรียบง่าย ไม่ต้องมีนมสดมาโรยหน้า หรือสารปรุงรสแต้มกลิ่นใด ๆ มาเสริม แค่นี้ก็พอดีอยู่แล้วคุณวิวรรณ บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนเก่าแก่ที่กินกันมาแต่ดั้งเดิม บางคนย้ายไปอยู่ไกลถึงพุทธมณฑลก็ยังแวะมากิน“หนุ่มสาวสมัยนี้ไม่กินกาแฟโบราณกันแล้ว ทุกวันนี้ที่เปิดร้านจะคิดเป็นค่าแรงคงจะไม่มี แต่ทำเพื่อให้แม่มีคนมาคุยด้วย ตัวเราเองโชคดีไม่มีหนี้ พอมีพอกินก็สุขใจแล้ว”

    3. ตลาดนางเลิ้ง

    เมื่อครั้งอดีต การสัญจรค้าขายนั้นจะใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่จึงเป็นที่มาของคำว่าตลาดน้ำ แต่กาลเวลาได้ล่วงเลยมาถึงยุคสมัยของความทันสมัย การคมนาคมทางถนนสะดวกขึ้น การสัญจรค้าขายทางน้ำจึงได้ลดบทบาทลงไป แปรเปลี่ยนมาอยู่บนบก โดยตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทยนั้นคือ “ตลาดนางเลิ้ง”

    4. ตึกเก่าบริเวณด้านหน้าตลาด ริมถนนนครสวรรค์

    ตลาดนางเลิ้งเป็นชุมชนและตลาด ตั้งอยู่ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต โดยก่อตั้งในสมัย รัชกาลที่ 5 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2443 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ซึ่งแต่เดิมเรียกย่านแห่งนี้ว่า “ย่านสนามกระบือ” จนกาลเวลาได้ผันเปลี่ยนเรียกย่านนี้ว่า “อีเลิ้ง” เหตุที่มีชื่อเรียกแบบนี้เนื่องด้วยบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบคลองเปรมประชากร มีชาวมอญล่องเรือนำตุ่มอีเลิ้งมาวางขายและกลายเป็นชื่อคุ้นปากจวบจนถึงยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปลี่ยนชื่อให้สุภาพขึ้นว่า “นางเลิ้ง”

    5. ศาลกรมหลวงชุมพร

    มนต์เสน่ห์ที่พบเห็นได้คือตึกรามบ้านช่องทั้งด้านนอกและด้านในตลาดนางเลิ้งนั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่สวยงาม โดยปัจจุบันได้มีการบูรณะทาสีใหม่ให้สีสันงดงามมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในตลาดยังเป็นที่ตั้งของร้านค้าร้านอาหารต้นตำรับมากมายให้ผู้ที่ได้มาเยือนได้จับจ่ายลองลิ้มชิมรส ไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวานก็ต่างเป็นสิ่งขึ้นชื่อของตลาดแห่งนี้ อาทิ ขนมเบื้องโบราณ ร้านบะหมี่ ส.รุ่งโรจน์ ไส้กรอกปลาแนม ข้าวเกรียบปากหม้อ นันทาขนมไทย

    6. โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี

    ด้านในหลังตลาดยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลกรมหลวงชุมพร” อันศักดิ์สิทธิ์ถือได้ว่าศาลแห่งนี้มีความใกล้ชิดกับกรมหลวงชุมพรฯ มากกว่าศาลอื่นๆ เพราะวังเก่าของท่าน (ปัจจุบันคือบริเวณพณิชยการพระนคร และ ธ.ก.ส.)ตั้งอยู่เยื้องคลองผดุงกรุงเกษมไปไม่ไกล เป็นที่สักการะขอพรของผู้ที่อยู่และผู้ที่ได้มาเยือนตลาดแห่งนี้ และอีกสถานที่สำคัญเมื่อครั้งอดีตนั้นก็คือ “โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี” ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 80 ปี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้วคงเหลือเป็นเพียงโกดังเก็บของ

    7. วัดโสมนัสราชวรวิหาร

    วัดโสมนัสราชวรวิหารหรือวัดโสมนัสฯ วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปัตยกรรมภายในวัดเป็นแบบไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระอุโบสถและพระวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ภายในวัดมีพระเจดีย์อยู่ 2 องค์ องค์แรกคือ พระเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นเจดีย์ทรงลังกาสีทองใกล้พระอุโบสถบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สูงเด่นเป็นสง่าสามารถมองเห็นได้ไกลซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชาวไทยชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาชมความงามสักการะเเละขอพรกันอย่างไม่เคยขาด ส่วนอีกองค์คือพระเจดีย์องค์เล็ก หรือที่เรียกกันว่าเจดีย์มอญ เป็นพระเจดีย์แบบลอมฟาง มีลักษณะเช่นเดียวกับปรินิพพานสถูปในอินเดีย กล่าวกันว่า พระเจดีย์ลักษณะนี้หาชมได้ยากมาก ในประเทศไทยมีเพียงสองแห่งคือที่นี่ และที่วัดกันมาตุยาราม ในกรุงเทพฯ อีกองค์หนึ่งเท่านั้น

    ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตพระนคร

    ชุมชนบ้านบาตร

    { รับชมรายละเอียดในหัวต่างๆ คลิกหัวข้อด้านล่างนี้ }

    ที่ตั้งชุมชนบ้านบาตร

    แขวง วัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100

    ประวัติชุมชนบ้านบาตร

    บ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ประมาณกันว่าชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านบาตร มีประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกัน ปรากฏคำบอกเล่าว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310 สันนิษฐานว่า บ้านบาตรอาจตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีและขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326 ชาวบ้านบาตรจึงมาตั้งบ้านเรือนในละแวกนอกคลองตามที่อยู่ปัจจุบันนอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าต่อๆกันว่า บรรพบุรุษเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากนั้นได้รวมกันมาอยู่ที่ตรอกบ้านบาตรจนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้มีฐานะมักนิยมสร้างวัด ทำให้มีวัดในกรุงเทพฯจำนวนมาก ในชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านทำบาตรพระ และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งอดีตทรงเป็นทหารหลวงในสมัยอยุธยา มีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพฯเป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นศูนย์กลางอาณาจักร ด้วยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงเก่าและชาวบางกอกเดิม ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านแบบเฉพาะถิ่น อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกรื้อฟื้นให้มีขึ้น เช่น ที่ถนนบำรุงเมืองหลังวัดสระเกศ ใกล้กับเมรุปูนมีซอยย่อยที่ตั้งใกล้กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ในอดีตนั้นถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกินอาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เรียกกันว่า “บ้านบาตร”

    "ชุมชนทำบาตร"
    แฮนด์เมดแห่งเดียวในโลก

    จากตำนานที่เล่าต่อกันมาว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านบาตรเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านทำบาตรเหล็ก ตั้งแต่คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 บ้านบาตรจึงเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการทำบาตรพระด้วยมือ ตามแบบอย่างโบราณมาโดยตลอดเอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้คือรอยตะเข็บ 8 ชิ้นจางๆที่ปรากฏอยู่รอบบาตร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพุทธประวัติที่ว่า บาตรใบแรกของพระพุทธเจ้าคือบาตรที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายและเกิดหายไป ท้าวจตุมหาราช เทพผู้อภิบาลรักษาโลกประจำอยู่ในทิศทั้ง 4 จึงนำบาตรศิลามีพรรณรังสีเขียวมาถวายองค์ละ 1 ใบ พระองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่อธิษฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น

    ปัจจุบันความนิยมในบาตรพระที่ทำด้วยมือลดน้อยลง เหลือเพียงการจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือรับสั่งทำจากพระภิกษุสงฆ์โดยตรงเท่านั้น ทำให้ชาวบ้านบาตรส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพอื่น คงเหลือกลุ่มช่างที่ยังยืนหยัดสานผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านบาตรเพียง 3 บ้านเท่านั้นรูปทรงของบาตรมี 4 ทรง คือ ทรงไทยเดิม,ทรงตะโก,ทรงลูกจันและ ทรงมะนาว กว่าจะมาเป็นบาตรชาวบ้านบาตรทำบาตรด้วยวิธีดั้งเดิม คือ การต่อเหล็กและตีขึ้นรูปบาตรด้วยมือ เริ่มจากการนำเหล็กมาตีเป็นขอบบาตรก่อน แล้วจึงทำตัวบาตรด้วยการนำเหล็กมาตีเป็นขอบบาตรก่อน แล้วจึงทำตัวบาตรด้วยการนำเหล็กแผ่นมาตัดเป็นรูปกากาบาท นำมาโค้งด้วยเหล็กกะล่อนเป็นโครงบาตร เรียกว่า กงบาตร จากนั้นนำมาเข้าขอบและติดกงด้วยการประกอบเหล็กหน้าวัว ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กรูปสามเหลี่ยมขนาดพอดีกับช่องว่างของกงเหล็กทั้งสี่ด้านติดเข้ากับกงบาตร เมื่อติดกงแล้วเสร็จทุกด้านจะได้บาตรที่มีรอยตะเข็บ 8 ชิ้น จากนั้นจึงประสานรอยต่อด้วยการเป่าแล่น โดยนำบาตรไปชุบน้ำแล้วหยอดผงทองแดงและน้ำยาประสานทองตามเส้นตะเข็บ แล้วจึงนำบาตรไปเผาจนบาตรสุกเพื่อให้เหล็กประสานเป็นเนื้อเดียว จากนั้นนำไปตีตามขั้นตอนต่างๆเสร็จแล้วจึงนำไปเจียและตะไบตกแต่งให้เรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ส่วนผู้นำไปใช้งานอาจนำไปบ่มหรือรมควันเพื่อป้องกันสนิม และทำให้บาตรขึ้นสีต่างๆตามความต้องการต่อไป

    คนบ้านบาตร

    หมู่บ้านบาตรด้านทิศเหนือตั้งอยู่ติดกับ “คลองบ้านบาตร” เป็นแพรกที่แยกออกมา จากคลองโอ่งอ่าง อีกฝั่งหนึ่งติดกับเมรุและป่าช้าวัดสระเกศฯ เป็นหมู่บ้านที่ทำงานหัตถกรรมตีบาตรพระมาตั้งแต่ต้นกรุง ด้านหนึ่งติดกับถนนบริพัตรและต่อเนื่องกับวังบ้านดอกไม้ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งอยู่ติดกับชุมชนที่มีย่านทำดอกไม้เพลิงแบบโบราณคือ “หมู่บ้านดอกไม้” ซึ่งเป็นหมู่บ้านผลิตและขายดอกไม้ไฟ อยู่ไม่ไกลจากเมรุหลวงวัดสระเกศฯฯ มีช่างดอกไม้ไฟที่มักจะใช้ในงานพระบรมศพหรืองานเมรุที่มีมาแต่ครั้งต้นกรุงฯ แล้ว เป็นการประดิษฐ์ดอกไม้เพลิงแบบโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับทางถนนวรจักรและถนนหลวงและยังมีบ้านที่ทำดอกไม้ไฟแบบเก่าสืบต่อมาอยู่บ้างที่ชุมชนนี้จนถึงปัจจุบัน

    บริเวณส่วนที่ต่อมาจากเมรุปูนคือ “การประปาแม้นศรี” ซึ่งการประปานั้นแรกตั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ. ๒๔๕๒ ให้กรมสุขาภิบาลรับผิดชอบเพื่อหาน้ำสะอาดใช้สำหรับพระนคร โดยใช้นายช่างชาวฝรั่งเศส โดยสร้างที่สี่แยกแม้ศรี แต่มาสร้างสำเร็จในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสำนักงานการประปากรุงเทพฯ ซึ่งเปิดเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗

    บริเวณเหนือสี่แยกแม้ศรีที่เป็นสะพานแม้นศรี สร้างข้ามคลองย่อยที่แยกออกจากคลองมหานาคเข้ามาพื้นที่ภายในด้านเหนือคลอง ชื่อ “แม้นศรี” มาจากชื่อหม่อมแม้น ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ “สมเด็จวังบูรพา” เมื่อหม่อมแม้นถึงแก่อนิจกรรมมีพิธีกรรมจัดใหญ่มาก และมีผู้สมทบเงินช่วยงานศพจึงนำเงินนั้นมาสร้างสะพานข้ามคลอง เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์และอุทิศส่วนกุศลให้แก่หม่อมแม้น สะพานนี้เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ตั้งชื่อสะพานเป็นอนุสรณ์แก่หม่อมแม้นว่า “สะพานแม้นศรี”

    บริเวณนี้เคยมีชุมชนชาวทวาย เพราะเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาครั้งสงครามในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เมื่อครั้งสงครามตีเมืองทวายราว พ.ศ. ๒๓๓๐ ช่วงแรกโปรดเกล้าฯ ให้ชาวทวายกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนอกป่าช้าวัดสระเกศฯ นอกพระนครกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “ตรอกทวาย” จนถึงปัจจุบัน และกลุ่มที่อยู่ภายในกำแพงพระนครตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตรอกข้างวัดมหรรณ์ฯ หลังโบสถ์พราหมณ์อีกกลุ่มหนึ่ง ภายหลังในรัชกาลเดียวกันให้ย้ายกลุ่มชาวทวายที่ตรอกทวายเหนือป่าช้าวัดสระเกศฯ ไปอยู่ที่ทางฝั่งใต้นอกพระนครบริเวณวัดคอกควาย ซึ่งต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในครั้งรัชกาลที่ ๓ จนได้ชื่อวัดยานนาวาเรียกชื่อสืบกันมาอย่างเป็นทางการว่าอำเภอบ้านทวายและเปลี่ยนเป็นอำเภอยานนาวาในภายหลังดังที่ทราบกันดีว่า หมู่บ้านรอบพระนครและภายในพระนคร หากไม่ใช่บ้านเรือนของขุนนางและครอบครัวที่รับราชการขึ้นต่อวังและมูลนายต่างๆ ก็จะเป็นกลุ่มคนจีนที่เข้ามาทำการค้าอาศัยอยู่ตามตึกห้องแถวต่างๆ หรือย่านตลาดในกลุ่มย่านสำเพ็งและถนนเยาวราชและอื่นๆส่วนกลุ่มผู้คนส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนหมู่บ้านจะมีอาชีพทำงานหัตถกรรมพื้นฐานค้าขายแก่ผู้คนตามความเหมาะสมแก่ชีวิตในช่วงยุคสมัยนั้นๆ เช่น ทอผ้าขาย ทำพานเงิน ทำเครื่องจักสาน ทำบาตรพระ ทำเครื่องทอง ตีทองคำเปลว ทำโอ (ภาชนะใส่ของ) ทำสายรัดประคด ก่ออิฐถือปูน ฯลฯ หลายกลุ่มบ้านสืบเชื้อสายและงานช่างฝีมือมาจากชาวบ้านชาวเมืองที่ถูกอพยพเข้ามาเติมผู้คนในกรุงเทพมหานครช่วงต้นกรุงฯ คือครั้งรัชกาลที่ ๑ เช่น คนเชื้อสายเขมร เชื้อสายทวาย เชื้อสายมลายู เชื้อสายญวน และมีเป็นจำนวนมากที่เข้ามาครั้งรัชกาลที่ ๓ คือ เชื้อสายลาว เชื้อสายมลายู เชื้อสายญวน ชาวเมืองพัทลุงที่เป็นไพร่หลวงเกณฑ์บุญ ฯลฯ ส่วนใหญ่ได้รับพระราชทานที่ดินเพื่อตั้งบ้านเรือน ศาสนสถานประจำชุมชนเป็นหมู่บ้านต่างๆ ปรากฏให้เห็นชัด ส่วนหนึ่งได้รับราชการกลายเป็นช่างหลวงสังกัดกรมกองต่างๆ ดังเช่นช่างทองเชื้อสายมลายูมุสลิม ช่างทำพานหรือเครื่องเงินเชื้อสายลาว ในกลุ่มเหล่านี้จะไม่ถูกควบคุมในการเกณฑ์แรงงานมากนักและสามารถเติบโตทางสังคมรับราชการได้บรรดาศักดิ์ ขึ้นกับเจ้านายและขุนนางระดับสูงวังต่างๆ เรียกว่า “ช่างเชลย” มาแต่ก่อนส่วนช่างทำบาตรก็เป็นหนึ่งในงานช่างหลวง

    จนถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบ “ช่างหลวง” ที่แยกกันอยู่คนละหมวด ละกอง หรือต่างกรมกัน มาแต่โบราณนั้นเสียใหม่ เพราะไม่มีผู้บังคับบัญชาและแยกกันอยู่ ต่อมาจึงให้ขึ้นกับ “กรมวัง” เสียที่เดียวช่างบาตรก็เป็นหนึ่งในกลุ่มช่างหลวงที่สังกัด “กรมวัง” ดังกล่าว (การปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. ๒๔๓๘โปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระราชสำนัก ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า กรมวัง หรือ จตุสดมภ์กรมวัง เป็นกระทรวงมีชื่อว่า กระทรวงวัง ซึ่งคือสำนักพระราชวังในเวลาต่อมา) โดยผู้อยู่อาศัยที่หมู่บ้านบาตรนั้น บางท่านก็เป็นช่างบาตรหลวงก็มี ส่วนช่างอิสระที่ตีบาตรขายโดยเอกเทศ แต่ขึ้นอยู่กับมูลนายท่านต่างๆ นั้นมีอยู่โดยมาก แม้จะเป็นหนึ่งในงานช่างหลวงที่ถูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่และกรมกอง แต่ก็ถือเป็นชาวบ้านกลุ่มใหญ่ที่เป็นไพร่สังกัดมูลนายแต่ก็เป็นผู้คนในหมู่บ้านที่ทำบาตรค้าขายอย่างอิสระตลอดมาน่าจะตั้งแต่ช่วงต้นกรุงฯ จนถึงปัจจุบัน

    วิกเมรุปูน

    วิกเมรุปูนน่าจะสืบเนื่องมาจากการมหรสพเมื่อมีงานฌาปนกิจผู้มีฐานะที่เมรุหลวงวัด สระเกศฯ ซึ่งจะมีการเล่นโขน ลิเก ละคร หุ่นกระบอก และมีออกร้านขายของกินของใช้มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงฯ ทีเดียว บริเวณป่าช้าหรือเมรุปูนวัดสระเกศฯฯ จึงชื่อเสียงเรื่องการแสดงมหรสพและมีทั้งคณะลิเก คณะหุ่นกระบอก โขน ละครชาตรีคณะต่างๆ ที่อยู่ในแถบวัดสระเกศฯฯ เรื่อยไปถึงวัดคอกหมูหรือวัดสิตารามและทางฝั่งวัดแค นางเลิ้ง วิกเมรุปูนเป็นวิกลิเกยอดนิยมวิกหนึ่งในช่วงยุคแรกๆ ของการแสดงลิเกตามวิกต่างๆ สภาพเป็นวิกไม้หลังคามุงสังกะสีและมีที่นั่งเป็นชั้นๆ

    ลิเกเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยพระยาเพชรปาณี (ตรี) ผู้เป็นนักปี่พาทย์โขนละครและข้าราชการกระทรวงวัง ริเริ่มสร้างให้มีการเล่นละครร้องแบบชาวบ้านจึงคิดค้นผสม “ดิเกบันตน ดิเกลูกบท และละครรำ” ผสมผสานกับวัฒนธรรมของคนมลายูที่มีอยู่ก่อนเข้าด้วยกัน เคยเล่นที่บ้านหม้อก่อนย้ายมาเปิดวิกที่ชานพระนครใกล้ป้อมมหากาฬ เรียกว่าวิกรพระยาเพชรปราณี ลิเกทรงเครื่องนั้น แต่งเครื่องอย่างดี ใส่ผ้าไหมอย่างดี แต่ไม่มีผู้หญิงเล่น ใช้ผู้ชายล้วนต่อมาจึงมีคณะของดอกดิน เสือสง่า ที่โด่งดัง โดยเฉพาะการเป็นผู้แต่งการร้องทำนองลิเกแบบรานิเกริงหรือราชนิเกริง สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๕ รวมทั้งการแสดงแบบชายจริงหญิงแท้โดยเฉพาะคู่พระคู่นางสองพี่น้องนายเต๊ก เสือสง่า และนางละออง เสือสง่าตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๕๖ หอมหวล นาคศิริ ก็มาหัดแสดงลิเกที่วิกเมรุปูน วัดสระเกศฯฯ ที่มีชื่อเสียงมาก และได้รับการช่วยเหลือจากครูแกร หัวหน้าคณะโขน ละคร และหุ่นกระบอก ซึ่งเป็นคณะที่มีชื่อเสียงอยู่แถวย่านวัดสระเกศฯฯ จนต่อมาจึงมีลิเกจากคณะหอมหวล นาคศิริ ที่แตกคณะออกไปจัดการแสดงตามวิกต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดและมีคณะลิเกที่ใช้นามหอมหวลสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนอยากดูลิเกเพราะไม่มีอะไรดู ชาวบ้านเหงาคนโหยหาความบันเทิง ทั้งวิกลิเกและการรำวงจึงเป็นเพียงมหรสพง่ายๆ

    สำหรับชาวบ้านยามยากวิกลิเกที่นิยมในช่วงยุคดอกดิน เสือสง่า จนมาถึงหอมหวล นาคศิริ ได้แก่ วิกเก่าตลาดยอด บางลำพู, วิกตลาดนานา วิกตลาดเทเวศร์, วิกตลาดเปรมประชา บางซื่อ กรุงเทพฯ, วิกบางรัก กรุงเทพฯ, วิกตาเฉย ตลาดพล ธนบุรี, วิกราชวัตร วิกช้างเผือก ถนนตก เป็นต้นวิกลิเกเมรุปูนมีการแสดงมหรสพจนทางวัดสระเกศฯมอบสถานที่ให้เป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนช่างไม้วัดสระเกศฯ” ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔

    หลวงประดิษฐ์ไพเราะและดนตรีทางบ้านบาตร

    ที่ตรอกบ้านบาตรช่วงที่เชื่อมต่อกับถนนบริพัตร เมื่อเดินเข้ามาเล็กน้อยจะพบบ้านไม้เก่าทรุดโทรมแล้วอยู่ทางขวา บ้านนี้เคยเป็นบ้านของพระยาวรรณสิทธิ์ ข้าราชการ ?? เล่ากันว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยพักอาศัยอยู่ที่เรือนพิกุลด้านหลังเรือนใหญ่ตั้งแต่สมัยเข้ามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ตรงนี้มีตรอกเล็กๆ เชื่อมกับตรอกด้านหลังบ้านบาตร พื้นที่ด้านหลังกว้างขวางเคยเป็นบ้านของ “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” สำนักดนตรีบ้านบาตรอันมีชื่อในอดีต ทุกวันนี้เป็นพื้นที่รกว่างหลังจากลูกหลานท่านย้ายบ้านออกไปก็ทำเปลี่ยนเป็นแฟลตสุกมล ก่อนถูกทุบทิ้งและทิ้งเป็นพื้นที่ว่างไว้เช่นนั้นจนทุกวันนี้“หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” หรือศร ศิลปบรรเลง เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ที่ตำบลดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรคนสุดท้องของนายสินและนางยิ้ม ศิลปบรรเลง เป็นผู้มีความสามารถและรักทางดนตรีมาตั้งแต่อายุยังน้อย หัดเรียนดนตรีปี่พาทย์จากบิดาอย่างจริงจัง ท่านได้ออกงานใหญ่ครั้งแรกในงานโกนจุก เจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมอบ ธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ จังหวัดเพชรบุรี ท่านได้แสดงฝีมือ ระนาดเอก จนเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่นักดนตรี หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)อายุไม่ถึงยี่สิบดี สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เอาตัวไปเป็นมหาดเล็กเพราะทรงพอพระทัยในฝีมือพ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นตำแหน่งจางวางศร ศิลปบรรเลง ได้จำเพลงชวามาหลายเพลงนำอังกะลุง เข้ามาเล่นเพลงไทยเป็นคนแรกโดยนำมาฝึกมหาดเล็กในวังบูรพาภิรมย์จนสามารถนำออกแสดงครั้งแรกหน้าพระที่นั่งในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดราชาธิวาส เป็นเหตุให้เกิดการเล่นอังกะลุงกันอย่างแพร่หลายและยังแต่งเพลงปรับปรุงเพลงและวงดนตรีไทยให้ดีขึ้น ในช่วงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทินนามและบรรดาศักดิ์ให้เป็น “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นปลัดกรมปี่พาทย์หลวง กระทรวงวัง พอถึงรัชกาลที่ ๗ หลวงประดิษฐ์ไพเราะร่วมกับหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) ได้รับราชการเป็นผู้ถวายวิชาดนตรีไทยแด่รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระบรมราชินีท่านบวชเรียน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นก็ทรงพระกรุณาฯ จัดการแต่งงานให้กับ นางสาว โชติ หุราพันธ์ ธิดาพันโทพระประมวล ประมาณผล ท่านแต่งเพลงไว้มากมายถึงกว่าร้อยเพลง รวมทั้งเป็นครูสอนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชินี โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และที่คุรุสภาในคราวที่มีตำแหน่งเป็นจางวางศรนั้น ท่านเคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ “สมเด็จฯวังบูรพา” ให้พำนักอยู่บ้านริมคลองโอ่งอ่างฝั่งตรงข้ามกับวังบูรพาภิรมย์ หลังจากสมเด็จฯ วังบูรพาเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านก็ย้ายออกจากบ้านเดิมมาสร้างบ้านพักอยู่อาศัยและทำสำนักสอนดนตรีไทยอยู่ในละแวกชุมชนบ้านบาตรขนาดพื้นที่ราว ๑ ไร่ ซึ่งไม่ไกลจากบ้านเดิมนัก ปลูกเรือนหมู่ เรือนเก็บเครื่องดนตรี และมีพื้นที่สำหรับใช้ประกอบพิธีกรรมไหว้ครูดนตรี ซึ่งถือเป็นจุดนัดพบสำคัญของนักดนตรีไทยในอดีตที่มาร่วมงานพิธีและประชันดนตรีปี่พาทย์เป็นงานใหญ่การย้ายมาอยู่ที่บ้านบาตรนี้ ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินส่วนพระองค์ จำนวน ๑ หมื่นบาท ช่วยสมทบซื้อที่ดิน ส่วนเงินค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านนั้น บางส่วนได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาเจ้านายที่ได้เคยถวายการสอนดนตรีหลวงประดิษฐไพเราะอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบาตรนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ จนถึงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านสิ้นลมหายใจที่บ้านบาตรอายุรวมได้ ๗๒ ปี รวมเวลาที่อยู่ในย่านบ้านบาตรนานราว ๒๖ ปีระยะเวลาที่อยู่บ้านบาตรนี้ เป็นช่วงเลยวัยกลางคนของท่านครูแล้ว ผ่านฉากชีวิตการประชันวงหน้าพระที่นั่งและการถวายงานราชสำนักมามากและมีครอบครัวที่ผาสุข มีลูกหลานและลูกศิษย์ที่ผ่านการอบรมสั่งสอนมาดีแล้ว ท่านจึงสามารถทำหน้าที่ความเป็นครูดนตรีและดุริยกวีนักแต่งเพลงได้อย่างเต็มที่ เกิดงานเพลงสร้างสรรค์ใหม่ในสังคมไทยที่เดินทางออกมาจากสำนักบ้านบาตรมากมาย เช่น เพลงโหมโรงศรทอง เพลงโหมโรงกราวนอก เพลงแสนคำนึงเถา เพลงกราวรำเถา เพลงกระต่ายเต้น เพลงชุดสามขะแมร์ เพลงเขมรไทรโยคเถาใหญ่ เพลงแขกขาวเถา เพลงเขมรภูมิประสาทเถา เพลงชมแสงจันทร์-ชมแสงทอง เพลงทยอยนอกเถา เพลงทยอยในเถา เพลงนกเขาขะแมร์เถา นางหงส์ ๖ ชั้น เพลงมู่ล่งเถา เพลงชุดด้อมค่าย เพลงรถติด เพลงระบำฉิ่ง เพลงระบำกลอง เพลงลาวดำเนินทรายทางเปลี่ยน เพลงลาวคำหอมเถา เพลงไส้พระจันทร์เถา เพลง อะแซหวุ่นกี้เถา รวมไปถึงเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีต่างๆ รอบวงที่แสดงถึงทักษะขั้นสูงของนักดนตรี (อานันต์ นาคคง, เพลงดีที่บ้านบาตร ตอน “รำวงบ้านบาตร”อาจารย์อานันต์ นาคคงกล่าวว่า คำว่า “บ้านบาตร” เปรียบเสมือนสำนักตักศิลาทางดนตรีไทยที่ยิ่งใหญ่มากในยุคก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่ในเวลานั้นที่มุ่งแสวงหาความรู้ประสบการณ์และชื่อเสียงในโลกดนตรีไทย ต้องมุ่งมาพบกับท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะฯ

    พวกลูกศิษย์มักเรียกขานทางเพลงที่เป็นผลงานประพันธ์ของท่านครู ในยุคที่มาพำนักอยู่สถานที่แห่งนี้ว่า “เพลงทางบ้านบาตร” ด้วยที่สำนักดนตรีบ้านบาตรแห่งนี้เอง ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะฯ ได้สร้างผลผลิตนักดนตรีไทยชั้นนำ ออกไปสู่สังคมมากมาย เช่น ครูมนตรี ตราโมท, ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์, ครูเผือด นักระนาด, ครูบุญยงค์ เกตุคง, ครูประสิทธิ์ ถาวร, ครูโองการ กลีบชื่น, ครูอุทัย แก้วละเอียด, ครูศิริ นักดนตรี, ครูเสนาะ หลวงสุนทร, ครูสุพจน์ โตสง่า, ครูบุญธรรม คงทรัพย์, ครูแสวง คล้ายทิม, ครูสมภพ ขำประเสริฐ, ครูกิ่ง พลอยเพชร ฯลฯทายาทของท่านคือ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง และ อาจารย์ลัดดา สารตายน ก็ยังได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนดนตรีนาฏศิลป์ “ผกาวลี” เกิดคณะละครผกาวลีผลิตศิลปินรุ่นใหม่ในทางดนตรีสากลจึงเกิดขึ้นที่บ้านบาตรนี้ด้วยเช่นกัน เช่น สวลี ผกาพันธุ์, อดิเรก จันทร์เรือง ฯลฯ จนถึงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ของครูเอื้อ สุนทรสนาน ก็มีบรรยากาศดนตรีจากสำนักดนตรีบ้านบาตรแห่งนี้ เพราะครูเอื้อสนิทกับอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลงและได้แวะเวียนมาปรึกษาหารือและซ้อมเพลงกันเป็นประจำบริเวณที่ว่างซึ่งเคยเป็นบ้านหลวงประดิษฐ์ไพเราะที่บ้านบาตรในปัจจุบัน

    เพลงรำวงมหรสพยามสงคราม

    รำวงบ้านบาตร เป็นการละเล่นสนุกของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ จนถึงราวปี พ.ศ. ๒๔๘๘ และการแพร่หลายของวัฒนธรรมรำวงตามนโยบายรัฐนิยม ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้คนในชุมชนต่างๆ มารวมตัวกัน สนุกสนานร่ายรำไปตามเสียงเพลงในยามค่ำคืน เป็นความสุขในยามบ้านเมืองฝืดเคืองและผจญอันตรายจากการทิ้งระเบิดเพราะสภาพสงคราม“รำวง” พัฒนามาจาก “รำโทน” ขับร้องรำกันระหว่างชายหญิง ในจังหวะดนตรีง่ายๆ เนื้อร้องรำวงมีความหลากหลาย ทั้งร้องเพื่อความบันเทิง ร้องเกี้ยวพาราสี ร้องเล่าเหตุการณ์สังคม ไปจนถึงการประยุกต์เพลงสำเนียงต่างๆ มาร้องเสริมเพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลงรำวงมีทั้งแต่งโดยรัฐมีเนื้อหาในแนวคิดนโยบายรัฐนิยม ส่วนของชาวบ้านชาวเมืองเนื้อหาสนุกสนาน ล้อเลียนขบขันบันเทิงเริงใจมากกว่า ท่ารำมีทั้งส่วนของอิสระ สามารถตีท่าได้ตามทักษะสร้างสรรค์และท่ารำที่เป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ของครูบาอาจารย์จากกรมศิลปากรที่ดัดแปลงแม่ท่ารำนาฏศิลป์แบบเดิมมาเป็นท่ารำที่ง่ายขึ้น หรือต่อมาก็ประยุกต์ใช้ท่าเต้นรำของฝรั่งมาเป็นท่ารำวงศ.ดร.เจตนา นาควัชระ ผู้เป็นทายาทของนายถนอม นาควัชระ หรือ “ขุนชำนิขบวนสาส์น” ผู้มีบ้านเรือนอยู่แถบบ้านบาตร กล่าวถึงบรรยากาศรำวงบ้านบาตรในยามสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่าที่ลานกลางบ้านหลวงประดิษฐ์ไพเราะฯ ชาวบ้านจะเข้าไปร่วมกันรำวงร้องเพลงอยู่ในพื้นที่บ้านอย่างเสรี ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของคนบ้านบาตรที่จดจำได้ถึงการรำวงและวัยเด็กที่เข้าไปเล่น และการใช้พื้นที่ในบ้านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะในการรำวง

    การส่งเสริมวัฒนธรรมรำวงของภาครัฐในยุคจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ส่งผลให้เกิดคณะรำวงที่เป็นทั้ง ของราชการและเอกชนมากมาย คณะรำวงราชการที่เป็นหลักที่สุดคือ “กรมโฆษณาการ” ต่อมาคือกรมประชาสัมพันธ์ มีหน่วยงานและครูเพลงที่ทำหน้าที่ผลิตเพลงรำวงอย่างจริงจัง อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแก้ว อัจฉริยกุล ครูธนิต ผลประเสริฐ ส่วนคณะเอกชนที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้ามีกันอยู่หลายคณะ เช่น คณะรำวงสามย่าน คณะรำวงไทยบ้านบาตร คณะไทยกิ่งเพชร คณะศิษย์พระเจน เป็นต้นนอกจากนี้ก็มีผู้ที่พัฒนาแนวเพลงรำวงใหม่ๆ ไปเป็นเพลงลูกทุ่ง เกิดครูเพลงที่นำเอกลักษณ์ของรำวงมาใส่ไว้ในผลงานยุคเริ่มแรกของลูกทุ่ง อาทิ เบญจมินทร์ สุรพล สมบัติเจริญ ก่อนที่จะคลี่คลายไปเป็นเพลงลูกทุ่งอื่นๆ ในยุคต่อมาในกลุ่มคณะรำวงเอกชน ถือว่าคณะรำวงสามย่าน วัดหัวลำโพง โด่งดังที่สุด เพราะเป็นแหล่งรวมนักร้องเสียงดี นักประพันธ์เพลงเก่งๆ และมีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงผลงานเพลงรำวงประจำคณะกับห้างกมลสุโกศล ตัวอย่างงานเพลงสะท้อนแนวคิดชาตินิยมที่สังคมไทยรู้จักในมุมกว้าง เช่น ศึกบางระจัน อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน ลูกชาวนา เป็นต้น นักร้องคณะรำวงสามย่านที่มีชื่อเสียง เช่น ประชุม พุ่มศิริ, เลิศ ประสมทรัพย์, สุรินทร์ ปิยานันท์ เป็นต้นคู่แข่งสำคัญของคณะสามย่านในอดีต คือคณะรำวงบ้านบาตร ซึ่งมีการพัฒนาเพลงร้องของตนและลีลาการรำวงที่สวยงามไม่แพ้กัน หากแต่โอกาสในการเป็นที่รู้จักของผู้คนน้อยกว่าเนื่องด้วยไม่มีงานบันทึกแผ่นเสียงออกเผยแพร่อย่างคณะรำวงสามย่านชาวบ้านบาตรยังจำได้ถึงบรรยากาศในช่วงสงครามและหลังสงครามว่ามีการร้องรำวงกันตลอดในช่วงเทศกาล ยิ่งเป็นช่วงสงกรานต์เราจะหยุดงานกันยาวกว่าปกติ ทุกเย็นที่บ้านบาตรจะมีรำวงในชุมชนที่ลานบ้านบาตรบริเวณศาลากลางบ้านในปัจจุบันนี้ ผู้หญิง ผู้ชายมาจีบกัน ฝ่ายชายเอาพวงมาลัยไปคล้องฝ่ายหญิง พอรำเสร็จเขาก็เอาผู้หญิงไปส่งที่เก้าอี้ ล่ำลากัน ยกมือไหว้ให้กันและกัน เพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงที่สอนผู้หญิง สอนเด็ก สอนมารยาทในการรำวง เป็นต้นปัจจุบัน ชุมชนบ้านบาตรรื้อฟื้นวัฒนธรรมรำวงขึ้นมาใหม่ เท่าที่จะจดจำและมีการบันทึกเนื้อเพลงไว้หลายสิบเพลง มีการออกแสดงรำวงสาธิตตามงานเทศกาลต่างๆ สม่ำเสมอ ชื่อรำวงคณะ “บ้านบาตรสามัคคี”